อันตรายจากท่าทางที่ไม่เหมาะสม การทำงานซ้ำๆ และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ:  10/10/2564....,
เขียนโดย อาจารย์ศรุดา จิรัฐกุลธนา 
               มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
...,

 

เรื่อง อันตรายจากท่าทางที่ไม่เหมาะสม การทำงานซ้ำๆ
และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์

          จากที่ใน EP.3 ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่เกี่ยวกับอันตรายจากการยก การเอื้อม และวิธีการในการออกแบบแก้ไขปัญหาตามหลักการยศาสตร์ ใน EP.4 นี้จะเป็นในเรื่องต่อมาเกี่ยวกับท่าทางที่ไม่เหมาะสม (awkward posture) และการทำงานหรือเคลื่อนไหวซ้ำๆ (repetitive motion)

          อันตรายจากท่าทางที่ไม่เหมาะสม คือลักษณะที่ไม่อยู่ในท่าปกติ (สามารถอ่านได้ที่ EP.1) โดยคอหรือหลังงอไปข้างหน้ามากกว่า 30 °นานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเกิดจากระดับของงานต่ำเกินไป ทำให้ต้องอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเพื่อที่จะทำงานนั้นได้ เช่น การก้มหัว ก้มคอ ก้มหลัง งอหลัง หรือโค้งตัว ดังรูปที่ 1 สามารถแก้ไขโดยการยกชิ้นงานให้สูงขึ้น โดยหาสิ่งของมาวางเพื่อเพิ่มความสูงของชิ้นงาน ดังรูปที่ 2 หรือกรณีที่ต้องก้ม หรือโน้มตัวทำงาน จะสามารถแก้โดยการออกแบบลักษณะการทำงานหรืออุปกรณ์ที่เป็นลักษณะการเอียงสิ่งของ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงที่ดีขึ้นและลดการเอนตัวไปข้างหน้า ดังรูปที่ 3

รูปที่ 1 Awkward posture

 

รูปที่ 2 การเพิ่มความสูงของชิ้นงาน
ที่มา https://www.engadget.com/2019-10-04-the-best-laptop-stands.html

 

รูปที่ 3 การออกแบบลักษณะการทำงานให้เหมาะสมกับท่าทางการทำงาน


          นอกจากนี้ท่าทางที่ไม่เหมาะสมยังรวมถึงการนั่งยอง (squatting) หรือคุกเข่า (kneeing) มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ดังรูปที่ 4 การนั่งยองเป็นท่าทางที่ดีในการปรับส่วนหลังให้ตรงและใช้กับการทำงานที่อยู่ระดับต่ำ ๆ แต่สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะอาจเกิดแรงกดหลังหัวเข่าและอาจทำให้เข่าบาดเจ็บได้ ซึ่งวิธีแก้ไขอาจทำได้โดยการใช้เก้าอี้เตี้ย (stool) มาเสริมการทำงาน เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังรูปที่ 5 นอกจากนี้การแก้ไขท่าทางที่ไม่เหมาะสม สามารถแก้ไขโดยการใช้เครื่องมือที่มีด้ามจับยาว ซึ่งจะสามารถใช้ได้ในบางกรณีเพื่อให้สามารถยืนตัวตรงและทำงานได้ หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน โดยสลับหมุนเวียนการทำงานไปมาระหว่างท่าทางต่าง ๆ หรือสลับหมุนเวียนกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดการอยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานานเกินไป

รูปที่ 4 การนั่งยอง (squatting) หรือคุกเข่า (kneeing)

 

รูปที่ 5 การใช้เก้าอี้เตี้ย (stool)
ที่มา: BMW Assembling Thailand

 

รูปที่ 6 การใช้เครื่องมือที่มีด้ามจับยาว


          ส่วนอันตรายจากการทำงานซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ที่เรียกว่า repetitive motion นั้น เป็นการเคลื่อนไหวแบบเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันด้วยมือข้อมือ ข้อศอก ไหล่ หรือคอ เช่น งานสำนักงานในออฟฟิศที่ต้องใช้ keyboard ตลอดทั้งวัน หรือการทำงานในไลน์การผลิตในโรงงาน ดังรูปที่ 7

รูปที่ 7 การทำงานซ้ำ ๆ (repetitive motion)
ที่มา: https://www.wsj.com/articles/how-to-make-it-through-a-boring-day-job-1497963602
https://www.hoffmannworkcomp.com/computer-use-linked-to-several-work-related-injuries/


          การทำงานซ้ำๆ เป็นเวลานาน สามารถแก้ไขได้โดย
                    1. 
จัดเตรียมงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น โดยจัดระเบียบสถานีงานหรือพื้นที่การทำงาน แบ่งออกเป็น 3 โซน ดังรูปที่ 8 ซึ่งงานหรืออุปกรณ์ที่ใช้บ่อยๆ ให้จัดวางไว้อยู่ใกล้มือเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ส่วนงานหรืออุปกรณ์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ให้จัดวางไกลออกไป
                    2. 
ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องจักร ทำงานแทน
                    3. 
กระจายการทำงานที่เป็นลักษณะการทำงานซ้ำ ๆ ในระหว่างวัน เพื่อลดการทำงานในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
                    4. 
หยุดพักเป็นระยะๆ
                    5. 
หมุนเวียนงานกับเพื่อนร่วมงาน ถ้าสามารถทำได้
                    6. 
บริหารร่างกายและส่วนของร่างกายที่ต้องใช้งานบ่อย ๆ

รูปที่ 8 การจัดระเบียบพื้นที่การทำงาน


          สำหรับ EP นี้ ผู้เขียนหวังว่าทุกท่านน่าจะเข้าใจและเห็นภาพของอันตรายท่าทางที่ไม่เหมาะสม (awkward posture) และการทำงานซ้ำ ๆ (repetitive motion) พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ^^ ใน EP ต่อไปจะเป็นในเรื่องของอันตรายจากการใช้อุปกรณ์มือจับ หรือ hand tool และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์ ฝากติดตามกันด้วยนะคะ :D

 

Reference:
          
-The Cal/OSHA Consultation Service, Research and Education Unit, Division of Occupational Safety and Health, California Department of Industrial Relations. (2007). Ergonomic Guidelines for Manual Material Handling

Visitors: 367,039