อันตรายจากการใช้ Hand tools และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ:  10/11/2564....,
เขียนโดย อาจารย์ศรุดา จิรัฐกุลธนา 
               มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
...,

 

เรื่อง อันตรายจากการใช้ Hand tools
และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์

          สำหรับ EP นี้เป็นเรื่องเครื่องมือที่ใช้มือจับ หรือที่เรียกว่า Hand tools ในการจับเครื่องมือ แต่ละเครื่องมือก็มีการ design รูปร่างและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เพื่อใช้ในงานที่แตกต่างกัน ผู้เขียนขอเริ่มที่นิยามที่จะอธิบายว่าลักษณะการจับแต่ละชนิดหมายถึงแบบไหนกันบ้างก่อนนะคะ

          โดยปกติแล้ว เราจะมีการจับอุปกรณ์เครื่องมือใน 2 ลักษณะคือ Power grip ซึ่งก็คือเป็นลักษณะการกำมือ โดยเป็นการกำด้ามจับของเครื่องมือ (ดังรูปที่ 1 ซ้าย) ส่วน Pinch grip คือการจับลักษณะเหมือนจับปากกา (ดังรูปที่ 1 ขวา) ซึ่งอันตรายจากการใช้เครื่องมือ Hand tools นั้นก็คือการกดทับบริเวณฝ่ามือ ดังรูปที่ 2 ซึ่งลักษณะของงานที่มีความแตกต่างกัน ลักษณะของมือหรือท่าทางของมือก็ต่างกันตามไปด้วย เช่น เมื่อทำงานที่ใช้แรงมาก ควรจับเครื่องมือในลักษณะ Power grip หรือการกำเครื่องมือ เพราะจะช่วยทำให้ออกแรงได้มาก ส่วนงานที่ต้องใช้ความละเอียดหรือความแม่นยำสูง เหมาะกับการจับเครื่องมือในลักษณะ Pinch grip เนื่องจากจะทำให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของเครื่องมือได้ดี

รูปที่ 1 ลักษณะการจับเครื่องมือแบบ Power grip (ซ้าย) และ Pinch grip (ขวา)

 

 

รูปที่ 2 ลักษณะการกดทับที่บริเวณฝ่ามือจากการใช้เครื่องมือ Hand tools

          อย่างไรก็ตาม ในการทำงานโดยทั่วไป มี 2 ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพื่อการเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องมือให้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

          1. พื้นที่การทำงาน (Work Space)
                    
พื้นที่การทำงานเป็นหนึ่งปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดสำหรับการทำงาน เพราะอาจจะทำให้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บข้อมือหรือส่วนมือจากการทำงานได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้เครื่องมือให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่การทำงานด้วย เช่น กรณีทำงานในพื้นที่แคบและต้องใช้แรงมือมาก (ดังรูปที่ 3) ควรเลือกเครื่องมือที่ถือได้เต็มมือ เพราะการถือเครื่องมือในลักษณะ Pinch grip จะให้แรงน้อยกว่า ซึ่งหากมีการใช้เครื่องมือด้วยการจับแบบ Pinch grip หมายความว่าต้องใช้แรงที่นิ้วมากขึ้นเพื่อออกแรงในการทำงานให้สำเร็จ ซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากการทำงานได้
                    
กรณีทำงานในพื้นที่แคบ ๆ บางครั้งก็อาจใช้เครื่องมือที่มีด้ามยาวไม่ได้ เนื่องจากการใช้เครื่องมือด้ามยาวอาจทำให้เกิดท่าทางที่ไม่สะดวกสบาย (Awkward posture) หรือแรงกดสัมผัส (Contact pressure) ที่เป็นอันตรายกับฝ่ามือในขณะที่ออกแรง จึงจำเป็นต้องเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะกับพื้นที่ทำงาน โดยการเลือกเครื่องมือด้ามสั้น เพราะจะช่วยให้เข้าถึงเป้าหมายในพื้นที่การทำงานได้โดยตรง ในขณะที่ข้อมือตั้งตรง ไม่บิดงอ ดังรูปที่ 4

รูปที่ 3 การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกรณีที่ต้องใช้แรงมือมากในการทำงาน

 

รูปที่ 4 การใช้เครื่องมือด้ามสั้นเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะงานในพื้นที่แคบ

          อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีการใช้เครื่องมือที่มีลักษณะโค้ง (Bent handle) ในบางพื้นที่การทำงาน จะมีความเหมาะสมมากกว่าเครื่องมือแบบ Straight handle เพราะจะทำให้ลักษณะท่าทางของข้อมือตั้งตรง และสามารถออกแรงได้ ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อมือ ในขณะที่พื้นที่การทำงานอีกลักษณะหนึ่ง เช่น ใต้ท้องรถ ควรใช้เครื่องมือแบบ Straight handle ซึ่งจะทำให้การทำงานสะดวกกว่า ดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 การเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่การทำงาน

          2. ท่าทางในการทำงาน (Work Posture)
                    
ท่าทางในการทำงานเป็นอีกปัจจัยที่ควรพิจารณาในขณะทำงาน หลักการที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงการยกไหล่และข้อศอก เนื่องจากไหล่และข้อศอกที่ผ่อนคลายจะสบายกว่าและจะช่วยเพิ่มแรงในการทำงานมากขึ้น
                    
ซึ่งการปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงาน สามารถทำได้โดยหากการทำงานนั้นมีลักษณะท่าทางการทำงานที่ยกไหล่หรือข้อศอกเกิน 90 องศากับพื้นขณะนั่งทำงาน (ดังรูปที่ 6) ถือเป็นท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานโดยยืนขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงได้มากกว่าด้วยท่าทางที่ถูกต้อง หรือกรณีที่ลักษณะงานเดิมเป็นการยืนทำงาน และทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม สังเกตจากการยกไหล่และข้อศอกขึ้น สามารถแก้ไขได้ 2 วิธีคือ ปรับเปลี่ยนตำแหน่งและการจัดวางของชิ้นงาน หรือการเพิ่มความสูงของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มีการทำงานในลักษณะท่าทางที่ถูกต้อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังรูปที่ 7

รูปที่ 6 การเปลี่ยนท่าทางการทำงานจากนั่งทำงานเป็นยืนทำงาน

 

รูปที่ 7 การปรับลักษณะการทำงานกรณียืนทำงาน

          นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น คีม ไขควง ควรเลือกเครื่องมือที่ไม่มีขอบคมหรือร่องนิ้วที่ด้ามจับ เพราะจะช่วยลดการกดทับบนฝ่ามือ หรือสามารถแก้ไขได้โดยใส่ soft material หรือปลอกหุ้มที่ด้ามจับเพื่อลดแรงกดทับได้

          ใน EP.5 นี้ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน เพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะการทำงานที่ถูกต้องและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกันนะคะ สำหรับ EP ต่อไป ฝากทุกท่านติดตามกันด้วยนะคะ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการอื่น ๆ ที่จะช่วยในการออกแบบการทำงานให้มีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Power zone, Anthropometry หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะนำเอามาช่วยออกแบบแก้ไขปัญหาทางการยศาสตร์ค่ะ ^^

 

Source:

A Guide to Selecting Non-Powered Hand Tools, the Research & Education Unit, Cal/OSHA

Visitors: 367,580