Automated Driving Vs. Situation Awareness

เผยแพร่เมื่อ 20/09/2564...,
เขียนโดย ผศ.ดร.ทศพล บุตรมี  
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร...,

 

เรื่อง Automated Driving Vs. Situation Awareness
รถยนต์ระบบอัตโนมัติกับการตระหนักต่อสถานการณ์

          สวัสดีครับ ใน Ep ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เขียนถึงการใช้รถยนต์ระบบอัตโนมัติเป็นระยะเวลานานๆ สามารถทำให้ระดับภาระงานด้านความคิดของผู้ขับขี่ลดลงและอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพ ความสามารถและทักษะในการขับขี่ลดลงได้ สำหรับใน Ep. 3 นี้ ผู้เขียนจะพูดถึงผลกระทบจากการใช้รถยนต์ระบบอัตโนมัติกับการตระหนักต่อสถานการณ์ (Situation Awareness)

          จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการขับรถยนต์ระบบอัตโนมัติเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนความสนใจจากสถานการณ์การขับขี่ไปทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขับขี่เช่น การอ่านข้อความ เล่นโทรศัพท์มือถือ เล่นเกมส์หรืออื่นๆ ซึ่งเรียกว่า ‘out-of-loop problems’ ในสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบทำให้ระดับการตระหนักต่อสถานการณ์และความสามารถในการขับขี่ลดลง

          การตระหนักต่อสถานการณ์ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Situation Awareness หมายถึง การรับรู้ เข้าใจ และคาดการณ์ต่อสิ่งเร้าและสถานการณ์ต่างๆ (Endsley, 1988) ในการขับขี่ยานพาหนะต่างๆ เช่นการขับรถ การขับเครื่องบิน หรือแม้แต่การควบคุมเครื่องจักรระบบอัตโนมัติต่างๆ การตระหนักต่อสถานการณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ขับขี่มีความสามารถในการตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย การออกแบบแผนการเดินทาง และการรักษาความปลอดภัยในการขับขี่ นักวิจัยทางด้านการยศาสตร์และปัจจัยมนุษย์แนะนำว่าการตระหนักต่อสถานการณ์ และภาระงานด้านความคิด เป็นปัจจัยมนุษย์ (human factors) ที่สำคัญที่จะส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่และความปลอดภัย (De Winter et al., 2014; Stanton & Young, 2000)

ภาพจาก https://gettgo.com/blog/13-behavior-for-your-insurance-class

          งานวิจัยหลายเรื่องพบว่าการขับรถยนต์ระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะ ระบบอัตโนมัติขั้นสูง Highly Automated Driving (HAD)เป็นระยะเวลานานๆ จะส่งผลให้ผู้ขับขี่มีระดับความตระหนักต่อสถานการณ์ลดลง (loss of situation awareness) ซึ่งส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการขับขี่ลดลง เช่นในงานวิจัยของ De Winter et al., (2014) พบว่า การใช้รถระบบ adaptive cruise control (ACC) หรือ highly automated driving (HAD) ส่งผลทำให้การตระหนักต่อสถานการณ์ของผู้ขับขี่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการขับรถระบบปกติ และการลดลงของการตระหนักต่อสถานการณ์จะส่งผลให้การตอบสนองต่อการตอบสนองต่อสถานการณ์อันตราย ยกตัวอย่างงานวิจัยของ Miller, Sun and Ju (2014) ได้นำกลุ่มอาสาสมัครมาทดลองขับรถระบบอัตโนมัติในห้องจำลองการขับรถ (driving simulator) เพื่อทดสอบการตอบสนองต่อการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ผลการวิจัยพบว่าการใช้รถระบบอัตโนมัติทำให้ผู้ขับขี่ตอบสนองต่อการที่มีคนเดินตัดหน้าบนถนนลดลงเมื่อเทียบกับการขับรถในระบบปกติ  

ภาพ ห้องจำลองการขับรถ (Almallah, Alfahel, Hussain, Alhajyaseen, & Dias, 2020)

          ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบจาการการใช้รถระบบอัตโนมัติกับระดับการตระหนักต่อสถานการณ์และการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้งานวิจัยทางด้าน Human Factors of Automated Driving ยังมีอีกหลายประเด็น รอติดตามใน Ep. ถัดไปนะครับ

 

เอกสารอ้างอิง

Almallah, M., Alfahel, R., Hussain, Q., Alhajyaseen, W. K., & Dias, C. (2020). Empirical evaluation of drivers’ start-up behavior at signalized intersection using driving simulator. Procedia Computer Science170, 227-234.

De Winter, J. C., Happee, R., Martens, M. H., & Stanton, N. A. (2014). Effects of adaptive cruise control and highly automated driving on workload and situation awareness: A review of the empirical evidence. Transportation research part F: traffic psychology and behaviour, 27, 196-217.

Miller, D., Sun, A., & Ju, W. (2014). Situation awareness with different levels of automation. In 2014 IEEE International Conference on Systems, Man, and Cybernetics (SMC) (pp. 688-693). IEEE.

Stanton, N. A., & Young, M. S. (2000). A proposed psychological model of driving automation. Theoretical Issues in Ergonomics Science1(4), 315-331.

 

Visitors: 365,700