3 เครื่องมือสำคัญ สำหรับสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ 15/08/2564...,
เขียนโดย คุณชุติพนธ์ อุปการ
               ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
               บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) โรงงานผลิตอาหารกุ้งบ้านพรุ...,

 

เรื่อง 3 เครื่องมือสำคัญ สำหรับสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย

“การสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์กร
ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และไม่เป็นโรคจากการทำงาน”

          จากการศึกษาของบริษัท ConocoPhillips Marine ในปี ค.ศ. 2003 โดยทําการศึกษาสัดส่วนของการเกิดอุบัติเหตุประเภทต่างๆ รวมถึงขยายขอบเขตไปยังเหตุการณ์ที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุ (near miss) ผลการศึกษา พบว่า ในอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต 1 ครั้งเกิดจากพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง risk behavior จํานวนมากถึง 30,000 ครั้ง ดังภาพที่ 1 ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงนั้น ได้แก่ การ bypass ระบบความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ หรือทํางานโดยละทิ้งขั้นตอนการทํางานที่ปลอดภัยเพื่อให้ทํางานได้รวดเร็วขึ้น ดังนั้น ถ้าสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยง จะทําให้โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุลดลงตามไปด้วย

ภาพที่1 พีระมิดแสดงสัดส่วนของอุบัติเหตุที่เกิดความสูญเสียในระดับต่างๆ
ศึกษาโดยบริษัท ConocoPhillips Marine ในปี ค.ศ. 2003

          การสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย เรียกว่า BBS  ย่อมาจาก Behavior-Base Safety คือ การสร้างความปลอดภัย โดยใช้พฤติกรรมเป็นพื้นฐาน
                    
พฤติกรรม คือ การกระทํา เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึก นึกคิดความต้องการ ของจิตใจที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า สังเกตเห็นได้โดยทางตรงหรือทางอ้อม บางลักษณะอาจ สังเกตได้โดยไม่ใช้เครื่องมือช่วย หรือต้องใช้เครื่องมือช่วย
                              
พฤติกรรมมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
                                        1. 
พฤติกรรมภายใน เช่น ความเชื่อ ทัศนคติ แรงจูงใจ แรงผลักดัน
                                        2. 
พฤติกรรมภายนอก เช่น การกระทำและท่าทางแสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้        

          เครื่องมือ (Tools) ของ BBS
                    
ในการทำ BBS สามารถใช้เครื่องมือ(Tools) ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
                              
เครื่องมือที่1 คิดก่อนทำ (Think Before Act) กระบวนการคิดก่อนทำ  มี  3  ขั้นตอน
                                        o 
ขั้นตอนที่ 1 คิด คือ การคำนึงถึงผลลัพธ์ ที่เป็นอันตรายและผลกระทบที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น
                                        o 
ขั้นตอนที่ 2 ก่อน คือ ก่อนทำ คิดก่อนว่า ตนเองจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันผลลัพธ์ ที่เป็นอันตรายและผลกระทบที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
                                        o 
ขั้นตอนที่ 3 ทำ คือ ทำตามที่ได้คิดไว้ อย่างปลอดภัย และไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย

                              หากไม่แน่ใจ…? ไม่มั่นใจ…? คิดไม่ออก…? อย่าเพิ่งทำ!

                                        ตัวอย่างการใช้ “คิดก่อนทำ”
                                        
ตัวอย่างที่1 หากฉันกำลังจะขับรถผ่านทางแยก ขณะที่รถมีความเร็ว 100 ก.ม./ช.ม.

                                           ขั้นตอนที่ 1 คิด: ฉันคิดว่าอันตรายที่ไม่คาดฝันมีอะไรบ้าง
                                                     o 
ไฟสัญญาณเปลี่ยนจากเขียวเป็นแดงกะทันหันทำให้เราหยุดไม่ทันฝ่าไฟแดงถูก ตำรวจจับ
                                                     o 
ไฟสัญญาณเปลี่ยนจากเขียวเป็นแดงกะทันหัน เราหยุดรถทันที ถูกรถข้างหลังชน
                                                     o 
มีรถคันอื่นตัดเข้ามากะทันหัน ชนกับเรา รถเราต้องพังยับเยินแน่ !

                                           ขั้นตอนที่ 2 ก่อน : ก่อนทำ ฉันคิดก่อนว่า แล้วฉันควรทำอย่างไร
                                                     o 
สังเกตดูสัญญาณไฟว่ากำลังจะเปลี่ยนหรือไม่
                                                     o 
ชะลอความเร็วรถ ก่อนผ่านทางแยก สังเกตดูรถข้างเคียง หน้าหลัง 

                                           ขั้นตอนที่ 3 ทำ: แล้วฉันก็ทำตามที่คิดไว้
                                                     o 
ขับรถผ่านทางแยกช้า ๆ หรือชะลอจอดตามสัญญาณไฟจราจร และสังเกตดูรถข้างเคียง หน้าหลังควบคู่กันไปด้วย

 

                              ตัวอย่างที่ 2 มีรถอยู่ข้างหน้าฉัน ขับช้าและบังทาง ฉันรีบไม่อยากไปทำงานสายทำให้ฉันกำลังตัดสินใจที่จะแซง

                                           ขั้นตอนที่ 1 คิด: ฉันคิดว่าอันตรายที่ไม่คาดฝันมีอะไรบ้าง
                                                     o 
ฉันคิดว่ารถของฉันอาจจะตกไหล่ทาง ทำให้รถของฉันคว่ำได้
                                                     o 
บนไหล่ทางมีหลุมที่ไม่คาดฝัน รถฉันตกหลุมได้รับความเสียหาย
                                                     o 
บนไหล่ทางมีคนกำลังรอข้ามถนน ฉันหลบไม่ทัน รถฉันอาจชนคนรอข้ามถนนจนเสียชีวิต ฉันอาจจะต้องติดคุกได้

                                           ขั้นตอนที่ 2 ก่อน: ก่อนทำ ฉันคิดก่อนว่า แล้วฉันควรทำอย่างไร
                                                     o 
ฉันไม่ควรจะแซงบนไหล่ทาง รอแซงเมื่อรถที่อยู่ข้างหน้าฉันหลบให้
                                                     o 
ฉันควรจะมองไปไกลๆ ให้แน่ใจว่าไม่มีอุปสรรคบนไหล่ทาง จึงค่อยแซง

                                           ขั้นตอนที่ 3 ทำ: แล้วฉันก็ทำตามที่คิดไว้
                                                     o ฉันตัดสินใจไม่แซง หรือจะแซงก็ต่อเมื่อไหล่ทางโล่งและปลอดภัย

 

                              เครื่องมือที่2  เพื่อนช่วยเพื่อน (Friend Helps Friend) คือ การนำคิดก่อนทำ(Think Before Act) มาใช้ดูแลเพื่อนร่วมงานเมื่อทำงานร่วมกัน หรือ อยู่ใกล้เพื่อน โดยช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนด้วยความห่วงใย และไม่นิ่งดูดาย ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
                                        
1. ชมเชยเพื่อน หากเห็นเพื่อนทำงานปลอดภัยดีแล้ว
                                        
2. ช่วยแก้ปัญหาให้เพื่อน หากเห็นเพื่อนทำงานไม่ปลอดภัยเพราะ มีปัญหา อุปสรรค
                                        
3. ช่วยอธิบายให้เพื่อนเข้าใจ หากเห็นเพื่อนทำงานไม่ปลอดภัย เพราะไม่รู้
                                        
4. ช่วยเตือนเพื่อน หากเห็นเพื่อนทำงานไม่ปลอดภัยทั้งๆ ที่รู้แต่จะเสี่ยง
                              
การสื่อความและการแสดงออกของ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ต้องทำด้วยความสุภาพและสร้างสรรค์ ถ้าทุกคนเข้าใจเจตนาของ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ทุกคนจะเข้าใจเจตนาของการกล่าวเตือนหรือกล่าวชม จะทำให้ รู้สึกยินดีที่จะรับฟัง และไม่โกรธเคืองเมื่อถูกกล่าวเตือนหากอยู่ในความเสี่ยง

 

                              เครื่องมือที่3 การสังเกตการณ์การทำงาน (BBS Observation) คือ กระบวนการสังเกตและมีปฏิสัมพันธ์โดยการสนทนาและพูดคุยเพื่อสร้างความปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมที่มีความเสี่ยง (At Risk Behavior) ต่อการเกิดอุบัติการณ์ รวมถึงการชมเชยเพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญของการทำ BBS คือ “การสังเกตความปลอดภัยและการเข้าไปพูดคุยเพื่อแก้ไขทันที”


          หลักการพูดคุยในการสังเกตความปลอดภัย
                    
1. บอกให้ผู้ที่จะได้รับการสังเกตทราบว่าการมาสังเกตครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อะไร
                    
2. สร้างบรรยากาศให้มีการสื่อสารเชิงบวกสื่อสารแบบเปิดใจ และปฏิบัติในแบบระดับเดียวกัน
                    3. 
หาสิ่งที่ต้องพัฒนาเรื่องความปลอดภัยและสรุปสิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อความปลอดภัย
                    4. 
ให้ Feedback จากสิ่งที่สังเกตเห็นแบบทันที ทั้งสิ่งที่ทำได้ดี(พฤติกรรมที่ปลอดภัย) และสิ่งที่ต้องปรับปรุง พัฒนา (พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย)
                    
5. ส่งเสริมและอนุญาตให้ผู้ได้รับการสังเกต ได้พูด คิด ตอบ ผ่านการถามคำถามของผู้สังเกต

          เคล็ดลับการกำจัดพฤติกรรมเสี่ยงทันที ที่สังเกตพบ แบบ BBS
                    
หยุด สังเกต ทักทาย ไถ่ถาม ช่วยเหลือ ห่วงใย
                              
1. หยุด ตั้งใจหยุดในจุดที่ปลอดภัย ใกล้ๆจุดที่กำลังทำงาน
                              
2. สังเกต ดูว่ามีอันตรายอะไรบ้าง ปลอดภัย หรือ ไม่ปลอดภัย
                              
3. ทักทาย ให้หยุดทำงาน พูดคุยกัน ด้วยคำถามว่า “สวัสดีครับ/ค่ะ ช่วยหยุดก่อนครับ/ค่ะ พอจะมีเวลาคุยสักครู่มั้ย”
                              
4. ไถ่ถาม ถามถึงพฤติกรรรมเสี่ยง ด้วยคำถามเชิงบวก (ถามให้คิด) ว่า
                                        - 
“ผม (คำแทนตัวเอง: ผู้พูด) สังเกตเห็น………..(บอกพฤติกรรมเสี่ยงที่พบ)ทำไมจึงทำ แบบนี้ (Why)      
                                        - 
“อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า……คุณ (คำแทนผู้ฟัง)ยังทำแบบนี้ ต่อไป/บอกกล่าวถึงอันตรายที่เกิด (What if)
                                        
- “คุณ (คำแทนผู้ฟัง) จะทำงานอย่างไร……..ให้มีความปลอดภัย มากกว่านี้” (How)
                                 
สรุปคำถามที่ใช้ เพื่อ เปลี่ยนพฤติกรรมคน (ถามให้คิด) ดังนี้
                                        
1. Why ทำไมจึงทำแบบนี้
                                        
2. What if อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าคุณยังทำแบบนี้ ต่อไป
                                        
3. How คุณจะทำงานอย่างไร  ให้มีความปลอดภัย มากกว่านี้
                              
5. ช่วยเหลือ แสดงความจริงใจในการช่วยเหลือให้เกิดความปลอดภัย ด้วยคำว่า “อยากให้ช่วยอะไร บ้างมั้ย เพื่อให้ความปลอดภัยดีขึ้น”
                              
6. ห่วงใย แสดงความห่วงใยและกล่าวขอบคุณ ด้วยคำว่า ขอบคุณครับ อย่าลืมทำงานด้วยความปลอดภัย ผม (คำแทนตัวเอง:ผู้พูด)เป็นห่วงคุณน่ะ


ตัวอย่างการใช้เคล็ดลับการกำจัดพฤติกรรมเสี่ยงทันที ที่สังเกตพบ

หัวหน้างานไปตรวจการทำงานของพนักงาน เมื่อไปถึงได้หยุดที่สถานีงาน และสังเกต

พบว่า พนักงานชื่อ ณเดชน์ เอามือแหย่เข้าไปในเครื่องปั้มโลหะ

เพื่อหยิบชิ้นส่วนที่ติดค้างอยู่ โดยไม่ปิดสวิตซ์ก่อน

          หัวหน้างาน                                 : ณเดชน์ หยุดก่อนครับ
          
ณเดชน์                                       : มีอะไรครับ หัวหน้า
          
หัวหน้างาน (ทักทาย)                   : ณเดชน์ พอจะมีเวลาคุยกับผม สักครู่มั้ยครับ
          
ณเดชน์                                       : ได้ครับ
          
หัวหน้างาน (ไถ่ถาม1 Why)        : ผมสังเกตเห็น ณเดชน์ เอามือแหย่เข้าไปในเครื่องปั้มโลหะ เพื่อหยิบชิ้นส่วนที่ติดค้างอยู่
                                                               โดยไม่ปิดสวิตซ์ก่อน ทำไมจึงทำแบบนี้ล่ะครับ
          
ณเดชน์                                       : ผมรีบครับ และสวิตซ์ถ้ากดปิดแล้ว มันเปิดติดยาก
          
หัวหน้างาน (ไถ่ถาม2 What if)  : อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเครื่องปั๊มมือคุณหล่ะ
          
ณเดชน์                                       : เงียบไปสักพักหนึ่ง....ผมคิดว่ามือของผมคงจะบี้เละเหมือนโลหะที่ถูกปั๊มลงไปครับ
          
หัวหน้างาน (ไถ่ถาม3 How)        : ณเดชน์ จะทำงานอย่างไร ให้มีความปลอดภัยมากกว่านี้
          
ณเดชน์                                       : ผมจะต้องปิดสวิตซ์ทุกครั้ง ก่อนที่จะเอามือแหย่เข้าไปในเครื่องครับ
          
หัวหน้างาน (ช่วยเหลือ)                : แล้วณเดชน์ อยากให้ช่วยอะไร บ้างมั้ย เพื่อให้ความปลอดภัยดีขึ้น
          
ณเดชน์                                       : ผมรบกวนหัวหน้า ช่วยเรียกช่าง มาซ่อมสวิตซ์เปิดปิด ให้ด้วยน่ะครับ
          
หัวหน้างาน (ห่วงใย)                     : ได้ครับ ณเดชน์  ขอบคุณมากน่ะ สำหรับข้อมูล อย่าลืมทำงานด้วยความปลอดภัย ผมเป็นห่วงคุณน่ะ

          ทุกคน ทุกวัฒนธรรม ไม่ชอบให้คนอื่นมาสังเกตเรา...โดยเฉพาะการมองหาพฤติกรรม ที่ไม่ดี...จับผิด ? 
                    
ปัญหาหลักๆที่ไม่กล้าเข้าไปสังเกตุและพูดคุยเพื่อแก้ไขทันทีให้ถูกต้องคือกลัวเพื่อนโกรธ กลัวลูกน้องไม่ชอบ
                    
การแก้ไขปัญหาฝ่ายบริหารจำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจน ว่า “สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่เป็นวิธีการที่ทำเพื่อนำใครคนใดคนหนึ่งมาลงโทษ แต่เราทำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับพนักงานทุกคน” เพื่อให้เกิดความเข้าใจและช่วยให้ทุกคนเกิดความกล้าในการเข้าไปสังเกตและพูดคุย ปัญหาเรื่องของกลัวเพื่อนโกรธ กลัวลูกน้องโมโหก็จะหมดลงไปได้

          สรุปการใช้ 3 เครื่องมือ (Tools) สำคัญ ของ BBS
                    
1.“คิดก่อนทำ” ที่แข็งแรง จะสามารถมองเห็นอันตรายรอบด้าน และจัดการกับ “กับดัก”ที่อยู่รอบตัว
                    
2. การนำ “คิดก่อนทำ” ดูแลคนที่อยู่ใกล้ๆ  เรียกว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน” ทุกคนย่อมจะมีความปลอดภัยดียิ่งกว่าต่างคนต่างดูแลตนเอง และยังสามารถช่วยกันปลูกฝัง“วัฒนธรรมองค์กรแห่งความห่วงใยซึ่งกันและกัน” ที่ทุกคนปรารถนา
                    
3. คิดก่อนทำ” ช่วยควบคุมความเสี่ยงเกือบทั้งหมด ถือเป็น ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ทรงพลังที่สุด ส่วนความเสี่ยงที่เหลือ ใช้ “การสังเกตการณ์การทำงาน” มาช่วยแนะนำซึ่งกันและกัน ทำให้“คิดก่อนทำ”ดีขึ้น จะช่วยควบคุมอันตรายและความเสี่ยงที่เหลือ ทำให้มีความปลอดภัยในการทำงาน

 

 

Visitors: 412,391