COVID 19 กับแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพในอนาคต

เผยแพร่เมื่อ 26/07/2564...,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สรา อาภรณ์  
               ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล...,

 

เรื่อง COVID 19 กับแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพในอนาคต

          COVID 19 ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เกิดความคุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมากขึ้น ระมัดระวังต่อสุขภาพของตนเอง ใส่ใจกับคำว่า อันตรายและความเสี่ยง มากขึ้น ในงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนั้น ผู้คนในวงการนี้เข้าใจเรื่องสุขภาพของแรงงาน พร้อมกับตีความในการดูแล การนำใช้กลไกต่างๆ การให้ความรู้เรื่องอันตรายและความเสี่ยง การดำเนินการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงการตรวจสุขภาพร่างกายของแรงงาน ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลไกในการเฝ้าระวังสุขภาพของแรงงานจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ย้อนกลับไปเรื่อง COVID 19 จากการระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นอันตรายด้านชีวภาพนี้ ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้คนในสังคมได้เรียนรู้จากสื่อหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น เชื้อตาย ไวรัสเวคเตอร์ หรือ mRNA เรื่องต่างๆ หรือคำต่างๆ เหล่านี้ สำหรับนักอาชีวอนามัยแล้วไม่ใช่คำใหม่ เรียนมากันแล้วทั้งนั้น หากแต่ ยังไม่ได้นำมาใช้ปฏิบัติเท่านั้น ดังนั้น งานเฝ้าระวังสุขภาพในอนาคตเมื่อมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิต สภาวะเช่นนี้ ทำให้ต้องย้อนกลับไปมองกิจกรรมงานที่ทำ ว่า เราดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพของแรงงานได้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ เพียงพอหรือไม่

          เชื้อไวรัสซึ่งในอนาคตอาจเกิดสายพันธุ์ใหม่ต่อไปอีก เพราะเป็นธรรมชาติในการสร้างตัวเองให้รอดปลอดภัย ไวรัสจะพ่ายแพ้ต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของผู้ได้รับเชื้อ ดังนั้น ในการทำงานที่ผ่านมา เราดูแลระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของแรงงานอย่างไรบ้าง 

          คำถาม คือ ระบบภูมิคุ้มกันของแรงงานที่เรารับผิดชอบ มีประสิทธิภาพดีเท่ากับประชาชนทั่วๆไป หรือไม่ 

          พี่น้องแรงงานของเรา ออกไปเผชิญโลกด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสพร้อมกับอาวุธเฉพาะตัว คือระบบภูมิคุ้มกัน มีประสิทธิภาพเต็มร้อย หรือไม่ 

          ในขณะที่ แรงงานทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานนั้น ได้สัมผัสกับความเสี่ยงที่จู่โจมต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรงหรือไม่ และเรามีวิธีการใดบ้าง 

          ถูกต้อง ทุกท่านอาจตอบว่า มีการตรวจร่างกายประจำปี เป็นไปตามกฏหมาย หากแต่ว่า การออกแบบการตรวจนั้น เฉพาะเจาะจงกับความเสี่ยงที่รับสัมผัสอย่างครอบคลุมหรือไม่ และที่สำคัญที่สุด ผลการตรวจร่างกาย ถูกนำไปวิเคราะห์ เพื่อการส่งเสริมและป้องกัน สุขภาพของแรงงาน หรือไม่ ขออนุญาตทิ้งท้าย ด้วยสถานการณ์การระบาดล่าสุด มักจะอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องชวนกันพูดคุย ต่อไป

Visitors: 367,518