คุณภาพอากาศในอาคารกับสุขภาพในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

เผยแพร่เมื่อ 23/08/2564...,
เขียนโดย ดร.สายศรัทธา นุ่มนวล 
               อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล...,

 

เรื่อง คุณภาพอากาศในอาคารกับสุขภาพ
ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
 

          คุณภาพอากาศในอาคารเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับสุขภาพของเราทุกคน การเจ็บป่วยจากอาคาร (Sick Building Syndrome) และ การเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับอาคาร (Building Related Illness) ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่เราอาจละเลยไป กลุ่มอาการของโรคที่พบ เช่น การระคายเคืองตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ อาจมีการเวียนศีรษะ เมื่อยล้า อ่อนเพลียร่วมด้วย หรืออาจรุนแรงไปถึงโรคลีจีแนร์ ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทำให้เราไม่มีสมาธิในการทำงานส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ ทั้งนี้สาเหตุของการเจ็บป่วยมีความเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพอากาศในอาคารที่ไม่เหมาะสมซึ่งรวมไปถึงการที่มีปริมาณของมลพิษทางอากาศในระดับที่มากเกินระดับที่ยอมรับได้

          ปัจจุบันเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่คนส่วนมากต้อง work-from-home ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังต้องไปทำงานที่ต้องอยู่ในพื้นที่ปิดและอาจไม่เอื้ออำนวยต่อการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้ในอากาศได้มากยิ่งขึ้น การใช้สารเคมีในการทำความสะอาดที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่ในขณะเดียวกันสารเคมีดังกล่าวอาจทำให้คุณภาพอากาศที่เราหายใจเข้าไปลดลงและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราในระยะสั้นและระยะยาวได้ หัวใจสำคัญหนึ่งในการทำให้คุณภาพอากาศในอาคารอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือ การระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการระบายอากาศที่เหมาะสมจะเพิ่มการหมุนเวียนอากาศสะอาดภายในอาคารให้มากขึ้นและทำให้ความเข้มข้นของมลพิษในอากาศภายในอาคารอันได้แก่ สารเคมี ฝุ่น และ เชื้อโรคต่างๆ ลดลง การระบายอากาศอาจทำได้โดยง่าย เช่น เปิดหน้าต่าง เปิดพัดลมระบายอากาศ หรือซับซ้อน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการกรองอากาศและระบายอากาศในอาคารที่มีระบบจัดการอากาศ ซึ่งจะต้องมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรรระบบเพื่อหาแนวทางจัดการที่เหมาะสม ทั้งนี้เราสามารถแก้ไขในเบื้องต้นได้ โดยการลดจำนวนคนในพื้นที่ปิดนั้นๆ โดยการจัดตารางการทำงาน รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่โดยไม่จำเป็น นอกจากนี้สารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาดควรใช้อย่างเหมาะสมและเก็บในภาชนะปิดมิดชิดเพื่อลดปริมาณการสะสมของไอสารเคมีในอากาศด้วย    

          อย่างไรก็ตามการระบายอากาศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการป้องกันการได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนั้นเราจะต้องปฏิบัติตัวตามแนวทางการป้องกันโควิด-19 ได้แก่ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่ทำงาน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และทำความสะอาดพื้นที่การทำงานของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง
          1. 
United States Environmental Protection Agency. (2021).  Ventilation and Coronavirus (COVID-19). Retrieved August 3, 2021 from https://www.epa.gov/coronavirus/ventilation-and-coronavirus-covid-19
          2. 
กรมอนามัย, สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม. (2559). คู่มือการปฏิบัติงานเพื่อการตรวจประเมินคุณภาพอากาศภายในอาคาร สำหรับเจ้าหน้าที่. สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

Visitors: 361,632