นิสัยด้านความปลอดภัย (Safety Habit)

เผยแพร่เมื่อ 26/10/2566
เขียนโดย คุณฐิติ วงศ์จินตนารักษ์
           ปริญญาตรี  วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยรุ่น 38 (มหาวิทยาลัยมหิดล)

 

นิสัยด้านความปลอดภัย (Safety Habit)

          วัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) เกิดขึ้นได้จากการมีพฤติกรรมที่ปลอดภัย (Safety Behavior) แต่พฤติกรรมที่ปลอดภัยนั้น เกิดขึ้นได้จากการมี “นิสัยด้านความปลอดภัย (Safety Habit)” ขึ้นมา

          ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก
         
หนึ่งในแนวทางการลดอุบัติเหตุจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุ คือการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งสถานประกอบการจะเริ่มด้วยการรณรงค์ ส่งเสริม จัดกิจกรรม อาทิเช่น การสังเกตุการณ์ความปลอดภัย การแนะนำในเชิงบวก ให้สื่อสารการลดพฤติกรรมเสี่ยง โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยได้ และพยายามทำอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่หลายสถานประกอบการพบคือ ยังคงมีการฝ่าฝืนกฏระเบียบ มีการลัดขั้นตอนการทำงาน และการไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอยู่  
          
สิ่งที่อยากเชิญชวนทุกท่านในการตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่แท้จริง คือ “เราอาจที่จะเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกผิดหรือไม่”
          
กระดุมเม็ดแรก คือ “การสร้างนิสัยด้านความปลอดภัย (Safety Habit)” ซึ่งสิ่งนี้จะคือ จุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่แท้จริง
          
การมุ่งเน้นไปที่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เสริมสร้างพฤติกรรมด้านความปลอดภัยนั้นเป็นแนวทางที่ดี แต่คำว่าวัฒนธรรมนั้นไม่มีปุ่มลัดที่เมื่อกดแล้วทุกคนจะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยได้ทันที วัฒนธรรมไม่ตายตัว เป็นพลังที่มองไม่เห็น เราจะเห็นก็ต่อเมื่อมีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้น ท้ายที่สุดแล้วความจริงก็คือ วัฒนธรรมคือชุดของนิสัย
          
นิสัยเป็นสิ่งสำคัญของโครงสร้างสมอง ช่วยให้บุคคลสามารถประพฤติตามกิจวัตรประจำวันได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดสินในทุกขั้นตอน นิสัยคิดเป็นประมาณ 40% ของพฤติกรรมมนุษย์เมื่อพูดถึงนิสัย นี่คือตัวอย่างที่เราทำในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แปรงฟันตอนเช้า คาดเข็มขัดนิรภัย ตลอดจนก่อนเริ่มงาน เช่น การสวมใส่ PPE การรักษาพื้นที่ทำงานให้เป็นระเบียบ

          อุปสรรคที่ต้องกลับไปจุดเริ่มต้นใหม่
          
85% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเด็น “การเตือนพนักงานเกี่ยวกับการเดินอย่างปลอดภัยและการดูแลทำความสะอาดนั้นจะช่วยทำให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย” เชื่อว่าประโยชน์นั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้นและในที่สุดเมื่อพนักงานเปลี่ยนความสนใจไปที่อื่น พวกเขาก็กลับไปใช้นิสัยเก่าๆ และในการทำงานอุตสาหกรรม สิ่งที่ทำให้สมาธิของพนักงานส่วนใหญ่ลดลงไปนั่นคือ “ความเครียด”
          
ความเครียดสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ความเหนื่อยล้า เป็นเรื่องยากที่จะมีสมาธิเมื่อเหนื่อยล้า และในช่วงเวลาอื่นๆ ที่ตึงเครียด เช่น เมื่อรู้สึกเร่งรีบหรือหงุดหงิด เป็นเรื่องง่ายที่จะกลับไปทำกิจวัตรประจำวันแบบเดิมๆ
          
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยสามารถสอนทักษะด้านความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับผู้คนเพื่อรักษาสมาธิและต่อสู้กับความพึงพอใจ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครสามารถรักษาสมาธิได้ 100% ดังนั้นการสร้างนิสัยที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

          สัปดาห์ในการพัฒนานิสัยใหม่
          
กุญแจสำคัญในการปรับปรุงพฤติกรรมที่ปลอดภัยที่แท้จริง คือการสร้างนิสัยที่ดีขึ้น แต่สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน การเสริมสร้างพฤติกรรมใหม่ต้องใช้เวลาเป็นระยะเวลานานก่อนที่พฤติกรรมนั้นจะฝังแน่นอยู่ในสมองของเรา หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดนิสัยที่ไม่ดีคือการแทนที่ด้วยนิสัยใหม่
          
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ไม่สามารถข่มขู่หรือบังคับให้พนักงานเปลี่ยนนิสัยได้ เนื่องจากคนโดยเฉลี่ยต้องใช้เวลาน้อยกว่า 10 สัปดาห์ในการพัฒนานิสัยใหม่ และพนักงานบางคนต้องใช้เวลานานกว่านั้น วิดีโอ กราฟิกหรือเรื่องราวที่น่าตกใจไม่สามารถส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของพวกเขาอย่างต่อเนื่องได้ การสื่อสารเชิงลบตั้งแต่กลยุทธ์ที่ทำให้หวาดกลัวไปจนถึงการตะโกนแบบเดิมๆ อาจแก้ไขพฤติกรรมได้ในขณะนั้น แต่ผลของการเปลี่ยนพฤติกรรมจะหมดไปก่อนที่จะเกิดนิสัยใหม่
          
พนักงานส่วนใหญ่มีทักษะพื้นฐานในการสวมหมวกแข็งหรือย่อเข่าเมื่อยกของ สิ่งที่ขาดหายไปคือรูปแบบที่ปลูกฝังแน่นเข้าไป ที่ช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำ
          
แนวทางความปลอดภัยเชิงบวก สำคัญมากต่อรูปแบบที่ปลูกฝังใหม่แทนสิ่งเดิม ในกระบวนการสร้างนิสัย การสนับสนุนเชิงบวกสำหรับพฤติกรรมที่ดี แทนที่จะลงโทษพนักงานเพราะแต่ละคนจะมีระดับความก้าวหน้าในนิสัยใหม่ที่แตกต่างกัน เพราะประสบการณ์ที่ถูกปลูกฝังลึกไว้เป็นทุนเดิมที่ไม่เท่ากัน

          วงจรนิสัย
          
กุญแจสำคัญของการสร้างนิสัยคือ วงจรนิสัย พฤติกรรมแต่ละอย่างประกอบด้วยวงจรนิสัยซึ่งประกอบไปด้วย สามองค์ประกอบคือ สัญญาณ กิจวัตร และรางวัล สิ่งหนึ่งนำไปสู่สิ่งต่อไปแล้วซ้ำรอยเหมือนวนซ้ำ
               
ตัวอย่างวงจรนิสัยที่ไม่ดี
                   
1. 
คุณเริ่มสวมใส่คลุมชุดทำงานเพื่อเตรียมเข้าทำงานทำความสะอาดพื้นที่ในกระบวนการผลิต นั่นคือ สัญญาณ
                   
2. 
คุณไม่สวมหน้ากาก Face Shield เพราะคุณรู้สึก อึดอัด เกิดฝ้าขึ้นและเสียเวลาในการเช็ดหน้ากากบ่อยๆ ในการทำงาน นั่นคือ กิจวัตร
                   
3. 
คุณรู้สึกสบายตัวขึ้นมองชัดขึ้น ทำทุกอย่างได้สะดวกขึ้น ความสบายนั้นคือ รางวัล แต่รางวัลนั้นต้องแลกมาด้วย ความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุสารเคมีกระเด็นเข้าตา

               ตัวอย่างวงจรนิสัยที่ดี
                   
1. คุณเริ่มสวมใส่คลุมชุดทำงานเพื่อเตรียมเข้าทำงานคุณหยิบสายยางเพื่อเตรียมล้างและพบว่ามันคือสายยางสารเคมี คุณรู้สึกว่ามันกระเด็นเข้าตาคุณได้ตลอดเวลา นั่นคือ สัญญาณ
                   
2. 
คุณสวมใส่ Face Shield นั่นคือคือ กิจวัตรใหม่
                   
3. 
คุณจะไม่รู้สึกแสบตาจากการกระเด็นของน้ำสารเคมี ขณะทำงานนั่นคือ รางวัล

               ผู้นำด้านความปลอดภัยในที่ทำงานจำเป็นต้องเห็นสถานการณ์จากมุมมองของพนักงาน และออกแบบวงจรนิสัยที่ดี อย่างมีความอดทนที่จะทำการเปลี่ยนแปลง    

          ตัวอย่างองค์กรที่สร้างนิสัยด้านความปลอดภัย
          
ตัวอย่างการสร้างนิสัยด้านความปลอดภัย ของบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และเภสัชภัณฑ์ชั้นนำแห่งหนึ่ง ที่มีการดำเนินงานทั่วโลก บริษัทได้ส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในโรงงานหลายแห่ง เริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดการบาดเจ็บในที่ทำงานเป็นศูนย์ จึงได้กำหนด “การตั้งเป้าพฤติกรรมที่บริษัทคาดหวัง” ที่จะได้เห็นวัฒนธรรมความปลอดภัยโดยแบ่งเป็น 3 ระดับคือ
                    1. 
เกิดขึ้นได้ทันที
                    2. 
กำลังพัฒนา
                    3. 
เติบโตเต็มที่ในแง่ของการมีส่วนร่วมของผู้นำ

          แนวคิดคือการ "กำหนดการปรับปรุงพฤติกรรม ที่จะส่งผลเชิงบวกในทันทีเช่น การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางพฤติกรรม” การประเมินเหล่านี้จะ "เป็นพื้นฐานในการวัดผลการพัฒนาพฤติกรรมในอนาคต"

          หลังจากบริษัทได้สร้างฐานข้อมูลพฤติกรรมในที่ทำงานหลายพันแห่ง บุคลากรด้านความปลอดภัยกว่าร้อยคน จะต้องฝึกอบรมพนักงานในแต่ละองค์ประกอบของโครงการริเริ่มด้านความปลอดภัยใหม่ๆ จนกว่าพฤติกรรมจะพัฒนาไปถึง "นิสัยด้านความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง" กล่าวคือ พนักงานดำเนินการได้ถูกต้อง 100% ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน

          ทุกนิสัยความปลอดภัยมีความสำคัญ หลังจากผ่านไปหนึ่งปี สถานประกอบการที่มีการกำหนดพฤติกรรมที่ปลอดภัยเพียง 5 ข้อ สามารถลดอัตราการบาดเจ็บลงได้ 11% และสถานประกอบการที่มีการกำหนดพฤติกรรมที่ปลอดภัย 20 ข้อ สามารถลดอัตราการบาดเจ็บลงได้ 35%

          เริ่มสร้างนิสัยด้านความปลอดภัย
                   
1. 
รายชื่อพฤติกรรมด้านความปลอดภัยที่ไม่ดีที่คุณพบได้ในพนักงานของคุณ
                    2. 
หากคุณเจาะลึกคุณสามารถระบุวงจรนิสัยที่เสริมกำลังพวกเขาได้หรือไม่?
                    3. 
คุณสามารถเขียนวงจรเหล่านี้ใหม่โดยเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีเป็นความดีได้หรือไม่

          เมื่อคุณเข้าใจวงจรนิสัยของสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ทำงานนั้นแล้วลอง “การตั้งเป้าและส่งเสริมการดำเนินการ พฤติกรรมที่คุณคาดหวัง”

 

แหล่งอ้างอิง

  • The Habit of Safety : Forming, Changing and Reinforcing Key Safety Behaviors by Tim Page-Bottorff was published in theFebruary 2016 issue of Professional Safety
  • How to Make Safety a Habit by Toby Graham / December 01, 2020
  • How3 companies established positive habits
  • The Power of Habit
  • Atomic Habit
  • 7 Habits to Keep You Safe : TS Top Safety
Visitors: 417,589