Stop Work Authorities

เผยแพร่เมื่อ 06/07/2564...,
เขียนโดย คุณลักษิกา ทองสอาด
               HSE Officer
               Greatwall Drilling Company...,

 

เรื่อง Stop Work Authorities 

          งานแท่นขุดเจาะน้ำมันบนบก หรือ Onshore มีความเสี่ยงที่สูงในทุกขั้นตอนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานภายใต้แรงดันสูง แก๊ส น้ำมันดิบ สารเคมี การทำงานบนที่สูง เป็นต้น โดยงานส่วนใหญ่เมื่อถูกประเมินความเสี่ยงของงานนั้นแล้ว จะถูกจัดว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงแทบจะทุกขั้นตอนการทำงาน มีการจัดการมาตรการป้องกันหลาย ๆ อย่างเข้ามาเพื่อลดโอกาสในการเกิดอันตรายนั้นขึ้น หรือช่วยลดระดับความรุนแรงของการได้รับผลกระทบต่าง ๆ

          สิ่งเหล่านี้ถูกจัดเตรียมขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับทีมผู้ปฏิบัติงานให้รับรู้ถึงลักษณะงาน อันตรายแฝงในงาน และการป้องกันอันตราย โดยแท่นขุดเจาะ (site) จะมีการจัดการประชุม (meeting) ประมาณ 15 นาที ก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานเข้ากะประจำทุกวัน เพื่อสร้างความตระหนักให้กับทีมงานทุกคน ซึ่งระหว่างการส่งต่อกะงานทุกคนจะต้องไปทำการ Handover พูดคุยแลกเปลี่ยนกับอีกกะที่กำลังทำงานอยู่ก่อนว่าขณะนี้กำลังทำงานอยู่ถึงขั้นตอนไหน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง จากนั้นทุกคนจะทราบหน้าที่ของตนเองว่าขั้นตอนต่อไปจะต้องทำอะไร มีอันตรายตรงจุดไหนที่ต้องระมัดระวัง และจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร และมีสิ่งสำคัญที่ช่วยเป็นมาตรการในการปฏิบัติงาน เรียกว่า “stop work” หรือการหยุดงาน ที่นำเข้ามาใช้ตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนถึงสิ้นสุดการทำงาน ซึ่ง stop work นับว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคนโดยจะประกอบไปด้วย 4 หยุด ดังนี้

                   1. หยุดตน
                            เป็นการหยุดขั้นพื้นฐานโดยเริ่มหยุดตนเองก่อนเมื่อรู้ว่าร่างกายของเราไม่พร้อมที่จะปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเจ็บป่วย ทักคนมีสิทธิ์ที่หยุดทำงานนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับตนเอง

                   2. หยุดเพื่อน
                            หยุดเพื่อนเมื่อเราเห็นว่าเพื่อนร่วมงานของเรากำลังทำในสิ่งที่เป็นอันตราย ใช้อุปกรณ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือยืนในตำแหน่งที่อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ การหยุดเพื่อนจะไม่ใช่การดุด่าว่ากล่าว ตำหนิ ทำให้รู้สึกอับอาย

                   3. หยุดใช้
                            หยุดใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย ไม่เหมาะสมกับงาน เมื่อใช้แล้วอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้

                   4. หยุดทำ
                            หยุดทำเมื่อยังไม่เข้าใจว่างานนั้นมีอันตรายอะไร มีขั้นตอนอย่างไร มีวิธีการป้องกันอันตรายนั้นอย่างไร ควรที่จะทำความเข้าใจให้ชัดเจนดีก่อนที่จะเริ่มงานนั้นๆ

 

          Stop work สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันหมด แม้จะเป็นลูกน้องก็มีสิทธิ์ที่จะสั่งหยุดงานหัวหน้างานได้เช่นเดียวกัน เพราะบางครั้งอุบัติเหตุมักเกิดจากความความเคยชินที่มีการกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น นาย A เห็นนาย B ซึ่งเป็นพนักงานที่เพิ่งจะได้ปรับตำแหน่งขึ้นมาทำงานในตำแหน่งนี้ ยืนทำงานในช่วงเวลาพักเที่ยง มีสีหน้าที่ไม่สู้ดีนัก ลักษณะเหงื่อท่วมตัว และนาย B เองก็ได้ใช้อุปกรณ์ในการทำงานอย่างผิดวิธี นาย A ตระหนักว่า นาย B ควรต้องหยุดพักเพื่อดื่มน้ำเพื่อไม่ให้เป็นลม รวมถึงการใช้อุปกรณ์ผิดวิธี อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ในขณะเดียวกันนาย A ดูเวลาแล้วว่าอีกไม่กี่นาทีจะมีคนมาเปลี่ยนกะการทำงานกับนาย B ซึ่งนาย A คิดเองว่าคนที่ไปเปลี่ยนกับนาย B คงสอนวิธีการใช้อุปกรณ์ให้นาย B ได้อย่างถูกต้องเอง จากนั้นไม่กี่นาที นาย B ได้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์ที่ผิดวิธีนั้นขึ้นจริง ๆ ประกอบกับผลจากความเหนื่อยล้า และอากาศที่ร้อนมากทำให้นาย B ล้มลงและหมดสติทันที

          หากมองย้อนเวลากลับไปได้ ถ้านาย A เลือกที่จะ Stop work เพื่อนร่วมงานทันทีเมื่อเห็นว่าทั้งสภาพร่างกายของนาย B ไม่พร้อม อีกทั้งใช้อุปกรณ์ผิดวิธี ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างบทเรียนที่ผ่านมา ดังนั้น ในฐานะของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ หรือหัวหน้างานเอง สามารถช่วยกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกคนให้ดำเนินการ Stop work โดยให้มีฝึกซ้อมเรื่อง stop work ในทุกเช้าก่อนเริ่มงานในทุกกะการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานไม่รู้สึกเขินอาย นอกจากนี้ควรมีการกล่าวขอบคุณและชื่นชมผู้ที่ทำ stop work ทำให้เกิดความปลอดภัยขึ้น  “เรื่องเล็กที่มองข้าม จะนำไปสู่ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่”

 

 

Visitors: 412,380