ความปลอดภัยในการใช้สารไกลโฟเซต

เผยแพร่เมื่อ 19/10/2564...,
เขียนโดย อาจารย์กชกร อึ่งชื่น
               อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
.
..,

 

เรื่อง ความปลอดภัยในการใช้สารไกลโฟเซต

          จากบทความที่แล้วเรารู้จักสารไกลโฟเซตกันดีขึ้นแล้วนะคะ ในบทความนี้เรามาพูดถึงแนวทางการทำงานกับไกลโฟเซตอย่างไรให้ปลอดภัยกันนะคะ

          โดยปกติแล้วเราทำการตรวจวัดสารเคมีอันตรายในบรรยากาศ เพื่อหาความเข้มข้นว่าสารเคมีดังกล่าวมีค่าเกินค่ามาตรฐานหรือที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการรับสัมผัสสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ หรืออาจมีการประเมินตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) เพื่อประเมินการรับสารเคมี แต่มักไม่นิยมเพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่สำหรับสารไกลโฟเสตนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานเกี่ยวกับการรับสัมผัสสารไกลโฟเซตในมนุษย์ทางงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทั้งในบรรยากาศและทางตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ มีเพียงแนวทางการเก็บตัวอย่างทางอากาศ PV2067 ที่ OSHA ได้แนะนำไว้ ดังนั้นเป็นการยากมากที่จะประเมินว่าไกลโฟเสตมีความเข้มข้นเท่าไร ถึงจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพ ดังนั้นหากคนใกล้ชิดเรามีการใช้สารไกลโฟเซต เราจึงควรที่จะแนะนำวิธีการใช้และการป้องกันตนเองแก่เขาเหล่านั้น เพื่อลดและป้องกันการเกิดโรคจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Disease caused by pesticides) ดังนี้
                    1. 
ด้านสุขลักษณะ เกษตรกรผู้ใช้ต้องมีสุขลักษณะที่ดีหลังใช้ ต้องล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก อาบน้ำทุกครั้ง รวมถึงการไม่ใช้เสื้อชุดเดิมซ้ำๆในการฉีดพ่น เพื่อลดการรับสัมผัสสารเคมี
                    2. 
การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ตามข้อกำหนดของประกาศฯ มีดังนี้
                              
2.1 อุปกรณ์ปกป้องระบบหายใจ มี 2 ชนิดคือ
                                        
o หน้ากากชนิดใช้แล้วทิ้ง ประกอบด้วยตัวกรอง 2 ส่วน คือ ชั้นแผ่นกรอง ที่ทําจากเส้นใยสําหรับ กรองฝุ่นและละอองสาร และชั้นกรองคาร์บอน
                                        
o หน้ากากชนิดเปลี่ยนไส้กรอง ประกอบด้วยตัวกรอง 2 ส่วน คือแผ่นกรอง และตลับกรองคาร์บอน
                              
2.2 ชุดป้องกันสารเคมี
                                        
o เป็นชุดที่ทําจากเส้นใยไม่ถักทอและเคลือบฟิล์มพลาสติกด้านบน สามารถป้องกันการสัมผัสละอองสารและ การซึมผ่านของสารป้องกันกําจัดศัตรูพืชเข้าสู่ผิวหนัง มีความคงทนและสามารถซักล้างได้ง่าย ลักษณะคล้ายเอี๊ยม ทําด้วยวัสดุพีวีซีหรือคล้ายชุดกันฝน (แบบชิ้นเดียวหรือแยกชิ้น
                                        o 
อุปกรณ์ปกป้องดวงตา แว่นตานิรภัยเป็นอุปกรณ์สําหรับช่วยป้องกันหรือเพื่อลดอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นในขณะทํางาน ดังนั้น จึงต้องสวมขณะทําการเตรียมหรือพ่นสาร เพื่อป้องกันการซึมผ่านบริเวณดวงตาและผิวหนังโดยรอบ ควรเลือกชนิด ที่มีกรอบกระชับ แข็งแรง มีขนาดพอดีกับรูปหน้าและจมูก
                              
2.3 อุปกรณ์ปกป้องผิวหนัง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
                                        o
 ถุงมือ ใช้ถุงมือยางชนิดหนา ที่ป้องกันการรั่วซึมของน้ำและอากาศ
                                        o
 รองเท้าบูท ใช้รองเท้าบูทยาง ที่ป้องกันการรั่วซึมของน้ำและอากาศ ขนาดกระชับและมีความสูงปิดถึง ครึ่งน่อง

          เพียงแค่เกษตรกรทุกคนตระหนักถึงอันตราย และทราบถึงแนวทางการป้องกันอันตรายจากการใช้สารไกลโฟเซตที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบได้ค่ะ

Visitors: 366,481