Safety Starts with You

เผยแพร่เมื่อ 10/08/2564...,
เขียนโดย คุณอัจฉรา คำอ้น
               Safety Manager
               บริษัท พรีไซซ อีเลคโทร-แมคคานิเคิล เวอร์คส์ จำกัด...,

 

เรื่อง Safety Starts with You

          วัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กรจะเกิดขึ้นได้ สิ่งแรกที่ทำคือต้องเริ่มที่ตัวเรา  (Safety starts with me) ซึ่ง “ตัวเรา” ในที่นี้หมายถึง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) หากความปลอดภัยมีการเริ่มต้นและทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ให้ดำเนินการขยายผลต่อให้กับทุกคนในองค์กร “Safety starts with you” ต่อไป             

          ผู้เขียนอยากให้คุณลองนึกภาพชีวิตของคุณ ไม่ว่าจะเป็นช่วงชีวิตในการทำงาน ชีวิตช่วงหลังเลิกงาน หรือชีวิตช่วงวันหยุด หากถ้าคุณได้รับอุบัติเหตุหรืออันตรายจากการทำงานหรือนอกเวลาการทำงาน มีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ?

          คำตอบคือ   ตัวคุณเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมงานของคุณ ฯลฯ ใช่หรือไม่? คุณต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ความปลอดภัยในทุก ๆ ช่วงของชีวิตของคุณ  ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกช่วงชีวิตต้องการความปลอดภัย หรืออาจกล่าวได้ว่า  “ความปลอดภัย คือชีวิตของคุณ” ดังนั้น การที่คุณจะมีความปลอดภัยในชีวิตต้องเริ่มต้นที่ตัวคุณ “Safety Start with You”

          ขอยกตัวอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันที่ระบาดไปทั่วโลก  โดยประเทศไทยมีแนวโน้มความรุนแรงค่อนข้างเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทุกคนที่ต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน  ภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิฤตินี้ไปได้ ซึ่งตัวคุณที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบและได้รับผลกระทบแล้วต้องทำหน้าอะไรบ้างเพื่อความปลอดภัยและรอดพ้นจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  
                    o 
อันดับแรก คุณต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อคุณมีองค์ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องแล้ว จะนำไปสู่กระบวนการคิดและความเชื่อหรือ Mindset ที่ถูกต้อง
                    o 
อันดับสอง เมื่อคุณมีองค์ความรู้ และ Mindset ที่ถูกต้อง คุณจะรับผิดชอบตนเองและปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019

          การปฏิบัติตนตามมาตรการเพื่อให้ปลอดภัย  คือ “ถ้าคุณปฏิบัติตนตามมาตรการ ตัวคุณก็จะได้รับความปลอดภัย” แต่ถ้าคุณไม่ปฏิบัติตนตามมาตรการ คุณก็จะไม่ได้รับความปลอดภัยหรือ “ทำอะไรก็ได้อย่างนั้น” ตัวอย่างเช่น 
                    
“คุณอยากมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง ระดับไขมันในเลือดลงลง แต่กลับมีพฤติกรรมตรงกันข้าม คือ กินอาหารที่ไขมันสูงบ่อย ๆ ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น คุณจะไม่ได้สุขภาพที่แข็งแรง แต่คุณจะได้โรคความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงมาแทนในอนาคต”

          จากตัวอย่างบอกอะไรคุณ?…มันบอกว่า คุณยอมรับความเสี่ยงที่จะให้ตัวเองมีสุขภาพที่ไม่ดี คุณไม่ได้อยากจะเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง (ไม่ได้ตระหนักอย่างแท้จริง) นั่นมาจากความคิด หรือทัศคติของคุณ ที่ส่งผลต่อการกระทำของคุณให้เป็นเช่นนั้น 

          การป้องกันให้คุณปลอดภัย รอดพ้นจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็เช่นเดียวกัน ตัวคุณได้ตระหนักหรือให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ถ้าคุณเชื่อและตระหนักว่า มาตรการป้องกันเหล่านี้จะช่วยให้คุณ ครอบครัว เพื่อนร่วมงานปลอดภัย คุณต้องลงมือปฏิบัติที่จะใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่แออัดด้วยผู้คน หรือถ้าจำเป็นต้องไปสถานที่แออัด คุณก็ต้องป้องกันตัวเองอย่างดีและเคร่งครัด คุณก็จะได้รับความปลอดภัย แต่ถ้าคุณคิดว่า “การนั่งคุยกันกับเพื่อนร่วมงานโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยแป๊ปเดียว” ไม่เป็นไรหรอก แปลว่าคุณกำลังยอมรับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือในขณะเดียวกันคุณก็อาจจะเป็นคนที่แพร่เชื้อให้เพื่อนร่วมงานคุณได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ตัวคุณปฏิบัติตนตามมาตรการจนได้รับความปลอดภัย คือ “Safety mind and Safety awareness” ของคุณ

ที่มารูปภาพ : https://www.mscarita.com                                      

          โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กับการเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากการทำงานหรือนอกงาน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?      

          ถ้าเปรียบองค์กรหรือโรงงานเป็นประเทศ มาตรการป้องกันและสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเจ็บป่วยจากการทำงานหรือนอกงาน เปรียบเสมือนเป็นมาตรการป้องกันและสาเหตุของการติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วนั้น จึงอยากชวนให้คุณลองศึกษาหลักการป้องกันด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า “ความปลอดภัย คือชีวิตของคุณ”และ “เริ่มต้นที่ตัวคุณ” จริงๆ    

          ในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จำเป็นต้องมีมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งนอกงาน (เท่าที่องค์กรสามารถควบคุมได้มากที่สุด) มี 3 หลักใหญ่ คือ
                    
1) การป้องกันที่แหล่งกำเนิดของอันตราย : จัดทำ/ปรับปรุงเครื่องจักร, วิธีการทำงานที่ปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงที่จะทำให้พนักงานได้รับอันตราย
                    
2) การป้องกันที่ทางผ่าน (Path) หรือการบริหารจัดการ: เช่น การกั้นห้องที่มีเสียงดัง ติดตั้งแผ่นวัสดุดูดซับเสียงดัง การจัดให้ความรู้ ฝึกอบรม จัดใหมีมาตรการข้อบังคับ การบังคับใช้ การจัดการความเสี่ยง เป็นต้น
                    
3) การป้องกันที่ผู้รับ (Receiver): เริ่มต้นที่ตัวผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่ PPE ตามข้อบังคับ/มาตรการ, ปฏิบัติตามมาตรการข้อบังคับอย่างเคร่งครัด, รายงาน/แจ้ง เมื่อพบเห็นว่าไม่ปลอดภัย เป็นต้น 

          หลักการป้องกันดังล่าวข้างต้น สามารถดำเนินการได้ทั้ง 3 ข้อ แต่ให้พิจารณาการแก้ไขป้องกันที่แหล่งกำเนิดของอันตรายเป็นลำดับแรกก่อนเสมอ ตามด้วยการป้องกันที่ทางผ่านของอันตรายและการป้องกันที่ตัวบุคคลตามลำดับ และถ้านำหลักการป้องกันนี้มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะได้ตามหลักว่า
                    
1) การป้องกันที่แหล่งกำเนิดอันตราย (Source) : เช่น การจัดหาจัดซื้อวัคซีนที่ดีมีประสิทธิภาพให้กับประชาชนพนักงาน/ผู้ปฏิบัติงาน หรือการจัดให้มีมาตรการการเช็ดความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วมกัน ล้างมือ เป็นต้น ถ้าระดับประเทศมีหน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบ ถ้าเป็นบริษัทฯ/โรงงานก็จะมีหน่วยงานมีนายจ้างมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบ
                    
2) การป้องกันที่ทางผ่าน (Path) : เช่น การจัดให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดให้มีมาตรการสวมใส่หน้ากากอนามัย การจัดให้มีมาตรการระบบระบายอากาศที่ดีถ่ายเทสะดวก การจัดให้มีมาตรการฉากกั้นพื้นที่ เป็นต้น โดยถ้าระดับประเทศมีหน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบ ถ้าเป็นบริษัทฯ/โรงงานก็จะมีหน่วยงานมีนายจ้างมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบ
                    
3) การป้องกันที่ตัวบุคคล (Receiver) : เช่น ประชาชน/พนักงาน/ผู้ปฏิบัติงาน ปฏิบัติตนสวมใส่หน้าหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น โดยประชาชน/พนักงาน/ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติ

          แน่นอนว่า ทั้ง 3 หลักนี้ต้องถูกนำมาใช้ในการป้องกัน แต่จุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในการสร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิตของคุณโดยไม่ต้องรอคนอื่นหรืออย่างอื่น นั่นคือ “การป้องกันที่ตัวบุคคล (Receiver)” และคงเริ่มต้นที่คนอื่นไม่ได้ จะต้อง “เริ่มต้นที่ตัวคุณ” ในบริบทของพ่อ แม่ ลูก ลุง ป้า น้า อา พนักงานคนหนึ่ง และประชาชนคนหนึ่ง ถ้าคุณหลายคนปฏิบัติตนให้ปลอดภัย ก็จะเพิ่มจำนวนคนที่ปลอดภัย และกลายเป็นความปลอดภัยระดับครอบครัว องค์กร ชุมชน และประเทศต่อไป

          ดังนั้น ปฎิเสธไม่ได้ว่า “ความปลอดภัย คือ ชีวิตของคุณ” จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในช่วงไหนของชีวิตก็ตาม หากคุณมีความรับผิดชอบต่อตนเองและตระหนักได้ว่า “Safety Start with You” วัฒนธรรมความปลอดภัยในระดับครอบครัว องค์กร ชุมชน และประเทศ จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

 

Visitors: 406,551