ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยการบิน (Safety Management System in Aviation)

เผยแพร่เมื่อ 17/08/2564...,
เขียนโดย คุณมนตรี  อบเชย
               ผู้จัดการส่วนความปลอดภัยภาคพื้น
               บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด...,

 

เรื่อง “ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยการบิน
(Safety Management System in Aviation)

          ผมเชื่อว่าหลายท่านเคยใช้บริการสายการบินในการเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างความปลอดภัย เหตุผลที่หลายๆ ท่านใช้เลือกบริการสายการบินใดในการเดินทาง นอกจากตารางการบินที่เหมาะสม ตรงเวลา ราคาที่ประหยัด และผมเชื่อว่าเรื่องความมั่นใจด้านความปลอดภัย ก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจใช่ไหมล่ะครับ วันนี้ผมขอนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยการบิน (Safety Management System in Aviation) มาเล่าให้ท่านที่สนใจได้รู้ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานด้านความปลอดภัย บางท่านอาจมีความสนใจร่วมงานในอุตสาหกรรมการบิน หรือสำหรับท่านที่เป็นผู้ใช้บริการสายการบินจะได้มีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

          

          หน่วยงานที่กำกับดูแลให้ทุกสถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมการบินจัดทำและนำไปปฏิบัติด้านระบบการจัดการด้านความปลอดภัย (Safety Management System: SMS) คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand: CAAT) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจรับและกำกับดูแลโดยภาพรวมของ SMS ของผู้ให้บริการ (Service Provider) เช่น สายการบิน สนามบิน ศูนย์ฝึกอบรมการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หอบังคับการบิน บริษัทผู้ออกแบบและผลิตอากาศยาน เป็นต้น ดังนั้น ทุกสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องด้านการบิน ต้องมี SMS ที่ถูกรับรองโดย CAAT จึงจะสามารถได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการได้ ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO : The International Civil Aviation Organization) Document 9859 และสอดคล้องกับแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (State Safety Programme)

          “ความปลอดภัย” ในอุตสาหกรรมการบินมักจะใช้คำว่า “นิรภัย” ถือเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ทุกสถานประกอบกิจการต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากไม่แพ้ด้านผลผลิตอื่นๆ ถ้าให้เปรียบเทียบความปลอดภัย คือการป้องกัน (Protection) สินค้าและบริการ คือผลผลิต (Production) หากชั่งน้ำหนักโดยใช้ตาชั่ง ทั้ง 2 อย่างต้องอยู่ในระดับที่สมดุลกัน (Balance) เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

          ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย (Safety Management System: SMS) หมายถึง กระบวนการเชิงระบบในการจัดการด้านความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการจัดโครงสร้างองค์กร การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ การกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติในการจัดการด้านความปลอดภัยขององค์กรนั้น

          หากเปรียบเทียบ SMS ขององค์กรแห่งหนึ่ง จะเปรียบเสมือนบ้านหนึ่งหลัง บ้านที่มีความแข็งแรงคงทนจะต้องมีเสาและฐานรากที่แข็งแรง ซึ่งเสาที่แข็งแรงเปรียบได้กับองค์ประกอบหลัก 4 องค์ประกอบ ของระบบการจัดการด้านความปลอดภัยนั่นเอง (SMS Framework - Four pillars) ได้แก่
                    1. 
นโยบายความปลอดภัยและวัตถุประสงค์ (Safety Policy and Objectives)
                              
1.1. ความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบ (Management commitment & responsibility)
                              
1.2. ภาระรับผิดชอบด้านความปลอดภัย (Safety accountabilities)
                              
1.3. บุคลากรด้านความปลอดภัย (Appointment of key safety person personnel)
                              
1.4. แผนโต้ตอบสถานการณ์ฉุกเฉิน (Coordination of ERP)
                              
1.5. ระบบเอกสารด้านการจัดการความปลอดภัย (SMS Documentation)

                    2. การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Safety Risk Management)
                              
2.1. การชี้บ่งอันตราย (Hazard identification) เพื่อค้นหาและจำแนกลักษณะ ขั้นตอน สาเหตุ และองค์ประกอบของสภาวะที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ และมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ มีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ภาวะอันตรายนั้นอย่างเป็นระบบ
                              
2.2. การประเมินและควบคุมความเสี่ยง (Safety risk assessment & mitigation) เป็นการนำข้อมูลมาประเมินความเสี่ยง (Safety Risk Assessment) ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้หรือไม่ หากอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สามารถยอมรับได้ก็จะนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงนั้น (Mitigation) ต่อไป

                    3. การประกันด้านความปลอดภัย (Safety Assurance)
                        
เป็นการสร้างระบบเพื่อนำมาใช้ควบคุมความเสี่ยงและมีความมั่นใจว่าระบบมีความต่อเนื่องที่จะสามารถป้องกันความเสี่ยงใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ประกอบด้วย
                              
3.1 ติดตามและประเมินความปลอดภัย (Safety Performance Monitoring and Measurement)
                              
3.2 บริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (Management of Change)
                              
3.3 ปรับปรุงและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง (Continuous improvement and audit)

                    4. การส่งเสริมด้านความปลอดภัย (Safety promotion)
                       
การส่งเสริมด้านความปลอดภัยจะรวมไปถึงการฝึกอบรมที่จำเป็นด้านความปลอดภัย การสื่อสารด้านความปลอดภัยและการ สร้างวัฒนธรรมเชิงบวกด้านความปลอดภัยกับพนักงานทุกระดับ
                              
4.1. การฝึกอบรมและการให้การศึกษาเรียนรู้ (Training and education)
                              
4.2. การสื่อสารด้านความปลอดภัย (Safety communication)

 

Visitors: 367,528