Safety Training during COVID-19

เผยแพร่เมื่อ:  05/09/2564....,
เขียนโดย คุณจีรวัฒน์ เจริญผล
               ผู้จัดการทั่วไป แผนกความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
               บริษัท ไทยนิปปอนสตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด
...,

 

เรื่อง Safety Training during COVID-19 

          สวัสดีทุก ๆ ท่าน อีกครั้งครับ กลับมาพบกันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นบทความที่สาม ในซีรีส์มาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพ งานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา ใน EP.1-2 ผมได้แนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ IOGP ที่ผมได้รู้จักและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน คือ กฎรักษ์ชีวิต (Life-Saving Rules) และกฎความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Rules) 

          เป็นที่ทราบดีว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเริ่มต้นการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด 19 ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป จนถึงชีวิตการทำงาน ผู้ที่เป็นบุคคลากรทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข รวมถึง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยอย่างเรา ๆ ต้องทำหน้าที่ในการจัดการกับโรคโควิด 19 ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในการทำงานในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ

          สำหรับใน EP.3 ผมขอนำเสนอในลักษณะแบ่งปันประสบการณ์ของการจัดการรูปแบบการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นการฝึกอบรมรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal Safety Training) ซึ่งการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพ งานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน

          ก่อนเริ่มการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานที่เข้ามาเริ่มงานใหม่ทุกคน ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ทำงานหรือผ่านการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยจากที่อื่น ๆ มาแล้ว หลายครั้ง เราจำเป็นจะต้องทำการฝึกอบรมซ้ำ โดยเน้นย้ำ ทบทวนสิ่งที่เป็นข้อกำหนด กฎหมาย กฎความปลอดภัยทั่วไป และกฎความปลอดภัยเฉพาะในพื้นที่ทำงาน/โครงการนั้น ๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม กระบวนการทำงาน ผู้ร่วมงาน อุปกรณ์ เตรื่องมือ และอันตรายที่มีความแตกต่างกันไป การฝึกอบรมในสถานการณ์ปกติเป็นการฝึกอบรมแบบลักษณะปรากฎตัวต่อหน้า ในห้องอบรมเดียวกัน ในพื้นที่เดียวกัน กิจกรรมการฝึกอบรมใกล้ชิดกัน มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงการฝึกภาคปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกัน แต่ในสถานณ์ปัจจุบันนี้ด้วยการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 เราไม่สามารถดำเนินการฝึกอบด้วยวิธีการปกติ ซึ่งมีอุปสรรคหลายประการที่ส่งผลต่อการฝึกอบรมทั้งด้านเทคนิคและด้านความปลอดภัย ซึ่งมีดังต่อไปนี้
                    1. 
จำกัดการเดินทางและการเว้นระยะห่าง
                    2. 
ผู้ให้บริการฝึกอบรมและวิทยากรไม่สามารถให้บริการฝึกอบรมได้
                    3. 
ถูกจำกัดการเดินทาง การปิดพื้นที่ สถานที่
                    4. 
ประกาศ ข้อกำหนด เฉพาะกาล ได้แก่ การห้ามรวมตัวเกินกว่าจำนวนที่กำหนด การจำกัดเวลาในการเดินทาง
                    5. 
ระยะเวลาในการฝึกอบรม ถูกจำกัด
                    6. 
รูปแบบของการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และการป้องกัน ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากป้องกัน เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ความชัดเจนลดลง สีหน้า ท่าทาง
                    7. 
การปรับเลี่ยนรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ กระบวนการที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ ระดมสมอง ฝึกปฏิบัติ
                    8. 
ขาดการกระตุ้นการเรียนรู้ ขาดปฏิสัมพันธ์ และการเรียนรู้ในเชิงประจักษ์ การสอบถาม การได้ฝึกปฏิบัติจริง
                    9. 
จำนวนผู้เข้าฝึกอบรม ถูกจำกัด
                    10. 
กระบวนการทวนสอบ หรือทดสอบความรู้บกพร่อง หรือไม่เต็มประสิทธิภาพ

          นอกเหนือจากนี้ยังส่งผลต่อวิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมในการเตรียมตัว ปรับวิธีการฝึกอบรม การสื่อสาร หาวิธีการกระตุ้นการเรียนรู้ การทดสอบความรู้ ความเข้าใจของผู้เข้าอบรม ในบางกรณี หรือบางพื้นที่มีอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงระบบสารสนเทศ ระบบอินเตอร์เนต ต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคในกระบวนการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทั้งสิ้น

         อย่างไรก็ตามในมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ให้ความสำคัญในการฝึกอบรม การให้ความรู้ ความเข้าใจ ด้านความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงาน ผู้ปฏิบัติงานนั้นมีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจริง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การปรับรูปแบบการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 มีดังต่อไปนี้
                  1. 
การฝึกอบรมผ่านสื่อออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ เน้นการศึกษาด้วยตนเองผ่านฐานข้อมูลการฝึกอบรม
                  2. 
การฝึกอบรมผ่านทางไกล และใช้สื่อออนไลน์ ในการเชื่อมโยงผู้เข้าฝึกอบรมและวิทยากร
                  3. 
การฝึกภาคปฏิบัติเน้นสถานการณ์สมมติทดแทน ในบางกรณีสามารถฝึกปฏิบัติแบบปรากฎตัวต่อหน้าสามารถทำได้โดยการเน้นการป้องกัน สวมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ลดจำนวน
                  4. 
มุ่งเน้นเป้าหมายการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม
                  5. 
พัฒนาทักษะและแนวทาง วิธี หรือนวตกรรมการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในรูปแบบใหม่

          สำหรับ EP.3 นี้ เบื้องต้นผมคิดว่าจะเป็นการเปิดให้มีการแบ่งปันประสบการณ์ และปัญหาเกี่ยวกับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยหวังว่าจะประโยช์สำหรับทุกท่านที่จะนำไปพิจารณาในการดำเนินการต่อไป

          โปรดติดตามและพบกันใน EP.4 ที่จะกล่าวถึงรายละเอียดในการปรับเลี่ยนวิธีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 มีประสิทธิภาพมากน้อยอย่างไร ในเดือนต่อไปครับ

 

 

Visitors: 417,592