กฤษฎีกากำหนดวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ 27/5/2565
เขียนโดย รศ.ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์
 
          ในวันสองวันที่ผ่านมานี้มีเรื่องใหญ่เกี่ยวกับผู้ประกอบอาชีพด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน นั่นคือ กฤษฎีกากำหนดวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในฐานะนายก ส.อ.ป. ซึ่งสมาชิกกว่าร้อยละเก้าสิบเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาดังกล่าว จึงขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการขับเคลื่อนให้เกิดสภาวิชาชีพนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ต้องการ ด้วยเข้าใจดีว่าการมีสภาวิชาชีพนั้นคือเพื่อปกป้องอาชีพหรือผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลาย โดยหน้าที่ของสภาวิชาชีพทั่วไปคือ ควบคุมและรักษามาตรฐานวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นต้น

          ด้วยเจตนาเริ่มต้นของการมีสภาวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัยคือ ปกป้องวิชาชีพ มิให้ผู้ซึ่งไม่มีความรู้ความสามารถมาปฏิบัติงานหรือประกอบอาชีพในสาขานี้ ดังนั้น ในบทบาทของการควบคุมและรักษามาตรฐานวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพ ดิฉันหวังว่าสภาวิชาชีพจะสามารถทำหน้าที่ตามความคาดหวังของสมาชิกได้ โดยไม่เพิ่มภาระแก่สมาชิกจนเกินไปทั้งในด้านการเงินและเวลา

          เมื่ออ่านร่างข้อบังคับ ฯ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย พ.ศ. .... หมวด 1 มาตรฐานการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จะเห็นได้ว่าครอบคลุมลักษณะงานของผู้ปฏิบัติงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ ตั้งแต่ระดับผู้จัดการ (ข้อ 5) จนถึงงานในหน้าที่ที่ จป.ทุกระดับปฏิบัติ (ข้อ 6) นั่นคือ บุคคลเหล่านี้ต้องสมัครเป็นสมาชิกสภาวิทย์ฯ และขึ้นทะเบียน ฯ เพื่อประกอบอาชีพที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ หรือไม่?

          ได้อ่านถามตอบ จากการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ยี่สิบห้าเมษายนที่ผ่านมา การตอบคำถามลำดับที่ 20 ถึง 21 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย คณะทำงาน ตอบว่า สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ตีความมาตรา 4 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็น จป.กับกระทรวงแรงงาน ถือว่าได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 หรือไม่ หากเข้าข่ายมาตรา 4 ผู้ขึ้นทะเบียน จป.สามารถปฏิบัติงานได้ตามเดิมโดยมิต้องมาขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื้อหาของ มาตรา 4 กล่าวว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นสมาชิกขององค์กรตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น และผู็ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศหรือระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชํานัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

          ถึงนาทีนี้เราคงต้องจับตาว่ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะออกมาดำเนินการอย่างไรบ้าง
Visitors: 365,531