การให้ทุนฝึกอบรมของ OSHA และ กองทุนความปลอดภัยฯ ของไทย

เผยแพร่เมื่อ 27/6/2564
โดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา นายก สอป.

การให้ทุนฝึกอบรมของ OSHA และ กองทุนความปลอดภัยฯ ของไทย

เมื่อคราวพรบ. OSHAct ประกาศใช้เมื่อปี 1970 ในเวลา 8 ปีต่อมาคือปี 1978 ก็มีการให้การสนับสนุนเรื่องการจัดฝึกอบรมกับหน่วยงานต่าง ๆ และต่อมาในปี 1997 ก็เรียกกองทุนที่ตั้งขึ้นด้วยงบประมาณของรัฐว่า Susan Harwood Training Grant Program เพื่อเป็นเกียรติกับ Susan Harwood อดีตผู้อำนวยการ the Office of Risk Assessment, OSHA's Health Standards Directorate

ส่วนของไทยเรา ในพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 44 กำหนดให้มีการตั้งกองทุน (ตามชื่อพรบ.) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในเรื่องการสนับสนุนการจัดฝึกอบรมได้ และว่าไปแล้ว สำนักงานประกันสังคมก็มีเงินสนับสนุนที่จะของบประมาณไปใช้ในด้านนี้ได้เช่นกัน

โดยภาพรวมในการของบประมาณเพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรม เกณฑ์ในพรบ.ดังกล่าวกำหนดกว้าง ๆ ไว้ในมาตรา 46 (2) ว่า “ช่วยเหลือและอุดหนุนหน่วยงานของรัฐ สมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่เสนอโครงการหรือแผนงานในการดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัย และการพัฒนางานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ดังนั้น หากใครหรือหน่วยงานใดจะขอ ก็ประสานงานตรงไปยังกลุ่มงานกองทุนความปลอดภัยฯ กองความปลอดภัยแรงงาน เพื่อขอเกณฑ์หรือรายละเอียดที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดต่อไป

ทีนี้มาดูในส่วนของ OSHA เผื่อเราจะได้ไอเดีย นำมาใช้งานกันบ้าง (หากคิดว่าดีและน่าสนใจ)

เขามีประเภทการให้ทุนดังนี้

1. Capacity Building grants - อันนี้จัดให้กับหน่วยงานที่จัดฝึกอบรมเป็นหลักอยู่แล้ว และต้องการจะขยายงานให้กว้างขึ้น มากขึ้น โดยต้องมีแผนการเงินแสดงให้เห็นว่า หากได้ทุนไปแล้ว หลังจากนั้น จะเลี้ยงตัวเองอย่างไรที่จะทำงานต่อไปได้ (ไม่ใช่หมดทุน ก็ปิดตัวเองลงตามเงินไปด้วย) (ดูน่าสนใจนะครับ ไอเดียดี) ทุนประเภทนี้ซอยย่อยลงไปอีกเป็น
1) Developmental grants กรณีต้องการทำหลักสูตรใหม่ ๆ
2) Pilot grants อันนี้เพื่อช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่ยังไม่พร้อมมาก

2. Target Topic grants - เน้นอบรมให้คนงานในหัวข้อที่ OSHA กำหนดไว้

3. Training Materials Development - ให้ทุนจัดทำสื่อการอบรม โดยกระบวนการครบตั้งแต่จัดทำ ประเมินผล และทวนสอบเรื่องคุณภาพ ทั้งนี้ให้ทำกับหัวข้อที่ OSHA กำหนด

สำหรับการกำหนดหัวข้อของ OSHA เขาก็ดูจากสถิติการเสียชีวิต โปรแกรมของประเทศ หัวข้อสำคัญ ๆ ช่วงนั้น (emerging topics) และกฎหมายที่รอ ๆ จะประกาศใช้ โดยแยกออกเป็นประเภทธุรกิจ เช่นโรงงานทั่ว ๆ ไป ก่อสร้าง เป็นต้น

ที่ต่างจากเราคือ ของเขาพวก State or local government agencies มาขอทุนไม่ได้ แต่ของไทยขอได้หมด (ได้ขอ แต่จะได้ทุนไหมอีกเรื่องหนึ่ง)

เขามีแนวทางแนะนำการขอทุนด้วย คือ Best Practices for Development, Delivery, and Evaluation of Susan Harwood Training Grants (ผู้เกี่ยวข้องบ้านเรา เข้าไปอ่านดูก็ดีนะครับ)

ปี 2021 OSHA ได้รับงบประมาณ $21 million (ประมาณ 668,199,000 บาท) เพื่อนำมาใช้เฉพาะเรื่องการสนับสนุนการฝึกอบรมนี้ ของไทยทั้งกองทุนมีเท่าไร จะถูกปันมาให้เพื่อการนี้เท่าไร ต้องค้นหากันเอานะครับ

#Meet_OHSWA_President

Visitors: 361,704