3 วิธี ที่จะทำให้นายจ้างให้ความร่วมมือในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน

เผยแพร่เมื่อ:  07/08/2564....,
เขียนโดย คุณปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย
               ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย
...,

เรื่อง 3 วิธี ที่จะทำให้นายจ้างให้ความร่วมมือในเรื่อง
ความปลอดภัยในการทำงาน
(How to make Employer buy-in to Safety) 

          คุณเคยดูรายรายการ SME ตีแตก มั้ยครับ? รายการนี้ จะมีผู้เข้าแข่งขันซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ เขาเข้ามานำเสนอรูปแบบการดำเนินการ แผนการตลาด และกลยุทธ์ต่างๆในการทำธุรกิจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตของธุรกิจที่วางไว้ และตอบข้อซักถามในเรื่องต่าง ๆ จากคณะกรรมการ และแขกรับเชิญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแบบเดียวกัน เพื่อให้คณะกรรมการ ได้ทำการลงผลคะแนนตัดสินว่า แผนการดำเนินธุรกิจที่นำเสนอนั้น "ตีแตก" หรือ "ตีไม่แตก" ซึ่งถ้า “ตีแตก” จะได้รับรางวัล K-SME AWARDS 1 รางวัล และบริการทางการเงินสำหรับ SME จากเครือธนาคารกสิกรไทยอีก 100,000 บาท และ มากไปกว่านั้น นักลงทุนหลายคน ที่กำลังนั่งดูรายการนี้อยู่ ก็อาจจะติดต่อเข้ามา เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจให้อีกด้วย

          เราจะเห็นว่านักลงทุน เขาจะลงทุน หรือ สนับสนุนในสิ่งที่ “เขาทำแล้ว เขาได้กำไร” ได้ผลประโยชน์ ซึ่งจับต้องได้ชัดเจน และ สำคัญมากๆ “เขาจะทำธุรกิจกับคนที่เขาไว้วางใจได้เท่านั้น” หากกลับมามองในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานแล้ว จป.เอง ก็เปรียบเสมือนผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการ SME ตีแตก ส่วนนายจ้างก็คือ กรรมการ หรือ ผู้ร่วมลงทุนให้นั่นเอง โดย จป. ต้องอาศัย 3 หลักการดังต่อไปนี้
                    1. 
ให้เขาชนะ (Make him win)
                        
นายจ้างส่วนใหญ่ ไม่ค่อยอยากจะได้ยินหรอกว่า ทำความปลอดภัยแล้วพนักงานได้ประโยชน์อะไร แต่เขาอยากได้ยินว่า “ทำความปลอดภัยแล้ว เขาได้กำไรเท่าไร” เอาตัวเลขให้เขาดูเลยว่า ถ้ามีความปลอดภัยแล้ว เขากำไรกี่บาท? ซึ่งบางทีก็ค่อนข้างยากนะ เพราะความปลอดภัยไม่ใช่การซื้อมา ขายไป แล้วได้กำไรทันที แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง กำไรอาจจะไม่ได้มาจากยอดขาย หรือ ผลผลิตที่มากขึ้น แต่กำไร มาจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง เช่น ไม่เกิดอุบัติเหตุ ค่าประกันต่างๆ หรือ เงินที่ต้องจ่ายให้กับกองทุนเงินทดแทนก็ลดลงด้วย 
                    
2. ทำให้จับต้องได้  (Make it is tangible)
                         
ผู้บริหาร มักจะยุ่งทั้งวัน ไม่ว่าง ไม่มีเวลา ดังนั้นการที่เราจะนำเสนออะไรก็ตาม ต้องสั้น กระชับ ตรงประเด็น โดยวิธีการนำเสนอที่ทำให้เห็นผลชัดเจนที่สุดก็คือ การใช้กราฟ และ กราฟที่ใช้ จะต้องเปรียบเทียบให้ดูด้วยว่า ก่อนนำความปลอดภัยมาใช้ในธุรกิจ และหลังจากที่ธุรกิจมีการนำเรื่องความปลอดภัยมาใช้ มีกำไรเกิดขึ้นเท่าไร ถ้ามีเงินสดอยู่ในตู้เซฟ ก็ขอให้ฝ่ายบัญชี เอามากองให้นายจ้างได้ดู ได้จับกันไปเลยครับว่า เรามีเงินสดมากขึ้นจากเดิมขนาดไหน
                    
3. ทำให้เขาไว้วางใจ (Make him trust)
                         
เวลาที่นายจ้าง จ้างโค้ช หรือ จ้างที่ปรึกษา มาช่วยเหลือในธุรกิจ ทั้งๆที่ค่าใช้จ่ายในการโค้ช หรือ การให้คำปรึกษานั้นแพงมาก ชั่วโมงละหลายหมื่นบาทกันเลยทีเดียว แต่นายจ้างยอมจ่ายก็เพราะว่า เขา “ไว้วางใจ” โค้ช หรือ ที่ปรึกษาคนนั้น

          คำถามคือ ทุกวันนี้เขาไว้วางใจเราหรือยัง? เครื่องมือที่ดีที่สุด ที่ก่อให้เกิดความไว้วางใจ ที่ดีกว่าคำพูด คือ ผลงาน ทุกวันนี้เรามีผลงานอะไรบ้าง? ที่ได้รับความไว้วางใจจากนายจ้าง

 ภาพน้องๆ ที่น่ารักที่ ม.วลัยลักษณ์

          หากเราไม่มีผลงานใดๆ เลย หรือ ทำงานไปวันๆไม่กินข้าวกลางวัน กินแค่ตอนเช้า1 ชาม กับตอนเย็น 1 ชาม ก็ยากนักที่เขาจะไว้วางใจ ตอนนี้เป็นโอกาสดีมาก ที่จะแสดงให้เขาเห็นศักยภาพในตัวของเรา และบทบาทของเราที่เป็นนักอาชีวอนามัยฯที่ดี ที่เรียนมาด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และโรคจากการทำงาน มาโดยตรง  ต้องทำให้เขาเชื่อว่าเราเป็น ผู้นำที่ไว้ใจได้ เราสามารถลดการติดเชื้อของโควิด-19 ได้ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในบริษัทลดลง ทำให้เขาชนะ ทำให้เขาจับต้องได้ ทำให้เขาไว้วางใจ

 

 

Visitors: 367,433