PPE สำหรับงานไฟฟ้า

เผยแพร่เมื่อ:  12/09/2564....,
เขียนโดย คุณวุฒิพงศ์ ปัทมวิสุทธิ์
               ที่ปรึกษาและวิทยากรอิสระ
...,

 

เรื่อง PPE สำหรับงานไฟฟ้า

          อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หมายถึง อุปกรณ์ที่สวมใส่ลงบนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือหลายๆส่วนพร้อมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่อวัยวะส่วนนั้นๆ และสำหรับการปฏิบัติงานด้านไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล จะเป็นวิธีป้องกันอันตรายที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะต้องรู้และแนะนำให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้งานอย่างถูกต้องและปลอดภัย

          1. ประเภทของอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลสำหรับงานไฟฟ้า                                 
              
ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 หมวด ๔ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า ข้อ ๒๑ ให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับลักษณะงาน และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกัน อันตรายจากไฟฟ้าที่เหมาะสมกับลักษณะงาน เช่น อุปกรณ์ดังนี้
                    o 
หมวกนิรภัย
                    o 
ถุงมือหนัง ถุงมือยาง แขนเสื้อยาง
                    o 
รองเท้าพื้นยางหุ้มข้อชนิดมีส้นหรือรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
                    o 
แผ่นฉนวนไฟฟ้า ฉนวนหุ้มสาย ฉนวนครอบลูกถ้วย
                    o 
กรงฟาราเดย์ (Faraday Cage), ชุดตัวนำไฟฟ้า (Conductive Suit)
                    o 
สายหรือเชือกช่วยชีวิตและเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการตกจากที่สูง
                    o 
ชูชีพกันจมน้ำ
                    o 
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายอื่นๆ

            อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลจะต้องป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับให้ลูกจ้างสวมใส่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน เว้นแต่อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้ลูกจ้างเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น ให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่น ที่สามารถใช้คุ้มครองความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพแทน

            การบำรุงรักษาและจัดเก็บอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งต้องตรวจสอบและทดสอบตามมาตรฐานและวิธีที่ผู้ผลิตกำหนด

          2. ข้อกำหนดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลสำหรับงานไฟฟ้า                               
                    
2.1 หมวกแข็งนิรภัย (Hard Hats/Protective Helmet) ถือว่าเป็นอุปกรณ์ป้องกันศีรษะ (Head Protection Equipment) ตามคำนิยามของ ANSI Z89.1 ของอเมริกา แบ่งตามคุณสมบัติทางไฟฟ้า ได้ดังต่อไปนี้
                              o 
Class G (Class A) เป็นหมวกแข็งออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทกจากวัตถุตกใส่จากที่สูงและลดอันตรายจากการสัมผัสตัวนำกระแสไฟฟ้า แรงดันต่ำ (Low-voltage Electrical Conductor) ซึ่งต้องผ่านการทดสอบการต้านทานกระแสไฟฟ้า ที่ 2,200 โวลต์
                              o 
Class E (Class B) เป็นหมวกแข็งออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทกจากวัตถุตกใส่จากที่สูงและลดอันตราย จากการสัมผัสตัวนำกระแสไฟฟ้าแรงดันสูง (High-voltage Electrical Conductor) ซึ่งต้องผ่านการทดสอบการต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ 20,000 โวลต์
                              o 
Class C เป็นหมวกแข็งออกแบบมา เพื่อลดแรงกระแทกจากวัตถุตกใส่จากที่สู่งอย่างเดียวโดยไม่มีคุณสมบัติป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า

                    2.2 ถุงมือยางฉนวนไฟฟ้า และ อุปกรณ์ป้องกันมือ (Rubber insulating glove and hand protection)
                              
2.2.1 ถุงมือยางฉนวนไฟฟ้า(Rubber Insulating Glove) ตาม ASTM D120 มีการผลิตและการทดสอบถุงมือยางฉนวนไฟฟ้าสำหรับป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากไฟฟ้าดูด แบ่งตามคุณสมบัติทางไฟฟ้า 6 ระดับ คือ Class 00, Class 0, Class 1, Class 1, Class 2, Class 3 และ Class 4

ภาพแสดง : ถุงมือยางฉนวนไฟฟ้า และ ถุงมือหนังงานไฟฟ้า

                              2.2.2 ถุงมือหนังงานไฟฟ้า (Leather Protector Gloves) ตามข้อกำหนดใน ASTM F 696 ถุงมือหนังงานไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์คือ
                                        
1. ใช้สวมทับเพื่อป้องกันการบด เบียด เสียดสี แทงทะลุ สำหรับถุงมือยางฉนวนไฟฟ้า
                                        
2. ใช้ป้องกันมือและถุงมือยางฉนวนไฟฟ้า จาก Arc flash
                                        
ถุงมือหนังงานไฟฟ้า จะนำมาใช้คู่กับถุงมือยางฉนวนไฟฟ้าเสมอ เพื่อปกป้องมือและถุงมือยางในระหว่างการปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า

                              2.2.3 อุปกรณ์อื่นๆในการป้องกันมือและแขน
                                        o 
ในการปฏิบัติงานด้านไฟฟ้าอาจมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่นำมาใช้ประกอบอุปกรณ์ป้องกันมือและแขนเพื่อความปลอดภัย เช่น ปลอกแขนยาง (Rubber Insulating Sleeve), กระเป๋าเก็บถุงมือ (Gloves storage bag), เครื่องเป่าลมสำหรับทดสอบถุงมือยาง (Gloves inflator) เป็นต้น  
                                        o 
ปลอกแขนยางฉนวนไฟฟ้า (Sleeve)สำหรับป้องกันไฟฟ้าดูด มีการแบ่งประเภทเช่นเดียวกับถุงมือยางฉนวนไฟฟ้า
                                        o 
แบ่งตามการทนทานต่อโอโซน Type I ไม่ทนต่อโอโซน และ Type II ทนทานต่อโอโซน
                                        o 
แบ่งตามคุณสมบัติการทดต่อแรงดันไฟฟ้า 5 class ได้แก่ Class 0, Class 1, Class 2, Class 3 และ Class 4
                                        o 
แบ่งตามลักษณะรูปร่าง StyleA แขนเรียวตรง และ StyleB ข้อศอกโค้ง

                    2.3 รองเท้านิรภัยและรองเท้าป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า
                              
อุปกรณ์ป้องกันเท้า ตามกฎกระทรวงฯ ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าสวมใส่รองเท้าพื้นยางหุ้มข้อชนิดมีส้นหรือรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ โดยหน่วยงานอาจมีการกำหนดให้มีการใช้ในส่วนของรองเท้านิรภัยและรองเท้าป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า (Electrical Hazard (EH) Footwear) ด้วย
                              
ตามมาตรฐานรองเท้านิรภัย ASTM 2412 (ANSI Z41.1) กำหนดให้รองเท้านิรภัยที่จะนำไปใช้ป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าต้องมีโครงสร้างพื้นรองเท้าสามารถลดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าเมื่อสัมผัสกับวัตถุทีมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน โดยให้เป็นมาตรการ ป้องกันขั้นที่สอง (Secondary Protection) รองจากการปกคลุมหรือห่อหุ้มผิวด้านนอกตัวนำไฟฟ้าด้วยฉนวน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งรองเท้านิรภัยที่ใช้พื้นและส้นรองเท้าทำด้วยวัสดุไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า มีจุดประสงค์เพื่อนำไปสวมใส่ในบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่บนพื้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดหรือในลักษณะไหนก็ตาม เป็นการป้องกันผู้สวมใส่ไม่ให้ถูกไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวต้องมีมาตรการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีการหุ้มฉนวนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว
                              
มาตรฐานรองเท้านิรภัย ได้กำหนดคุณสมบัติของรองเท้านิรภัยไว้ 7 ประเด็น ได้แก่
                                        1. 
การต้านทานแรงกระแทก (Impact Resistance, I)
                                        2. 
การต้านทานแรงบีบ (Compression Resistance, C)
                                        3. 
การป้องกันกระดูกเท้าส่วนบน (Metatarsal Impact resistance, Mt)
                                        4. ความต้านทานต่อการนำไฟฟ้า (Resistance to Electrical Conductivity, Cd)
                                        5. 
ความต้านทานต่ออันตรายจากไฟฟ้า (Resistance to Electric Hazard, EH)
                                        6. 
ประสิทธิภาพด้านการกระจายไฟฟ้าสถิต (Static Dissipative Performance,SD)
                                        7. 
การป้องกันการเจาะทะลุพื้นรองเท้า (Puncture Resistance, PR).

รูปแสดง รองเท้าป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า

                    2.4     อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในงานไฟฟ้าแรงสูง
                             
การปฏิบัติงานบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าแรงสูง จะต้องใช้ผู้ที่มีทักษะพิเศษ การปฏิบัติงานโดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "ฮอทไลน์" (HOTLINE) เป็นการปฏิบัติงาน โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ที่สามารถป้องกันไฟฟ้าแรงสูงได้ มีการปฏิบัติ ฮอทไลน์ ดังนี้
                                        
1. ไม้ฉนวน (Hot Stick)
                                        
2. ถุงมือยางแรงสูง (Rubber Glove)
                                        
3. มือเปล่า โดยสวมชุดตัวนำ (Bare Hand)
                               
1. Hot stick คือการทำงาน hotline แบบใช้ ไม้ฉนวนและอุปกรณ์ป้องสายครอบสายไฟฟ้า โดยผู้ปฏิบัติงานจะไม่มีการเข้าใกล้ หรือสัมผัสกระแสไฟฟ้าโดยทำงานที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 22 kV, 33 kV, 115 kV (ในระดับแรงดัน 115 kV จะไม่มีการครอบฉนวนป้องกัน) โดยไม้ฉนวนสามารถทนแรงดันไฟฟ้าได้ 100 kV/ฟุต จะยาว 8-12 ฟุต ทำจากวัสดุพิเศษเคลือบน้ำยา เมื่อโดนน้ำจะเป็นหยด ไม่ไหลเป็นทาง (ช่วยเซฟกรณีทำงานแล้วฝนตก)

ภาพแสดง : การทำงาน hotline แบบใช้ไม้ฉนวน (Hot Stick)

                               2. Rubber Glove คือการทำงานโดยใช้ถุงมือยางกันไฟฟ้าแรงสูง ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเข้าไปจับสายไฟฟ้าโดยตรง ที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 22-33 kV โดยจะใส่อุปกรณ์ป้องกัน คือ Rubber Glove (ถุงมือยางแรงสูง) Curve arm sleeve (คลุมไหล่กับแขน) และผ้ายางต่างๆไว้สำหรับครอบสายไฟฟ้า โดยถุงมือยางและผ้ายาง โดยทั่วไปทนแรงดันไฟฟ้าได้ถึง 46 kV
                               
3. Bare Hand เป็นการทำงานโดยวิธีนี้จะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใดๆทั้งสิ้น (นอกจากอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หมวก แว่นตา รองเท้า) ใช้การคุมระยะจากกราวด์เป็นหลัก โดยทำงานอยู่ที่ระดับแรงดัน 115 kV หรือมากกว่า
                               
การทำงานจะอาศัยหลักการของ กรงฟาราเดย์ (Faraday Cage) โดยผู้ปฏิบัติงานจะสวมใส่ชุดที่เรียกว่า Conductive Suit เป็นผ้าฝ้ายผสมใยสแตนเลส ประกอบไปด้วย เสื้อ ฮูด กางเกง ถุงมือ ถุงเท้า (ทุกชิ้นเป็นตัวนำไฟฟ้าทั้งหมด)
                               
ผู้ปฏิบัติงานจะเข้าไปจับสายไฟฟ้าเปลือยโดยตรง โดยการถ่ายเทศักย์ไฟฟ้าจากสายส่งสู่ตัวผู้ปฏิบัติงานให้มีศักย์ไฟฟ้าเท่ากันก่อน และสามารถทำงานได้โดยปกติ (ผู้ปฏิบัติงานจะไม่รู้สึกว่ามีกระแสไฟฟ้าเลย)

ภาพแสดง : การทำงานโดยใช้ถุงมือยางและฉนวนกันไฟฟ้าแรงสูง

 

ภาพแสดง : เป็นการทำงานโดยวิธี Bare Hand และสวมใส่ Conductive Suit

                     2.5     อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจาก Arc Flash
                                
ในการปฏิบัติงานด้านไฟฟ้า จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง (risk assessment) เพื่อชี้บ่งอันตรายในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้
                                        
1) ประเมินความเสี่ยงจากไฟฟ้าดูด (shock risk assessment)
                                        
2) ประเมินความเสี่ยงจาก Arc Flash

ภาพแสดง : ป้ายชี้บ่งอันตรายจาก Arc Flash

                    โดยจะตามมาตรฐาน NFPA 70E Standard for Electrical Safety in the Workplace จะกล่าวถึงการป้องกันอันตรายจาก arc flash และอันตรายจากไฟฟ้าดูด ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลไฟไหม้ผิวหนัง (exposure to the thermal effects) มีการแบ่งการป้องกันอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านไฟฟ้าเป็น 4 ระดับ ดังนี้
                              1. 
Arc-Flash PPE Category 1 Arc-Rated Clothing, Minimum Arc Rating of 4 cal/cm2
                              2. Arc-Flash PPE Category 2 Arc-Rated Clothing, Minimum Arc Rating of 8 cal/cm2
                              3. Arc-Flash PPE Category 3 Arc-Rated Clothing, Arc Rating of 25 cal/cm2
                              4. Arc-Flash PPE Category 4 Arc-Rated Clothing, Arc Rating of 40 cal/cm2

          3 มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลสำหรับงานไฟฟ้า
          
 ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ประกาศนี้สามารถใช้เป็นแนวทาง สำหรับผู้ใช้งานที่จัดซื้อจัดหาและ ใช้งานอุปกรณ์ PPE ให้เหมาะสมกับชนิดหรือประเภทของงานที่ทำอยู่ ทำให้มาตรฐานของอุปกรณ์ PPE ที่สอดคล้อง กับกฎหมายไทยปัจจุบัน มี 9 มาตรฐาน ได้แก่
                    
1. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - สัญลักษณ์คือ มอก. หรือ TIS
                    
2. มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization) – สัญลักษณ์คือ ISO
                    
3. มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards) - สัญลักษณ์คือ EN หรือ CE
                    
4. มาตรฐานประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards) -สัญลักษณ์คือ AS/NZS
                    
5. มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute) - สัญลักษณ์คือ ANSI
                    
6. มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards) – สัญลักษณ์คือ JIS
                    
7. มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health) - สัญลักษณ์คือ NIOSH
                    
8. มาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติ กรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration) - สัญลักษณ์คือ OSHA
                    
9. มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association) - สัญลักษณ์คือ NFPA

ข้อมูลอ้างอิง (Reference source)

  • พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
  • กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 กระทรวงแรงงาน
  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554
  • ANSI Z89.1 American National Standard for Industrial Head Protection
  • ASTM D120 Standard Specification for Rubber Insulating Gloves
  • ASTM F 696 Standard Specification for Leather Protectors for Rubber Insulating Gloves and Mittens
  • ASTM F2412 Standard Test Methods for Foot Protection
  • NFPA 70E Standard for Electrical Safety in the Workplace
  • คู่มือการปฏิบัติงานแก้ไฟฟ้าขัดข้อง 2559 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

 

 

Visitors: 361,567