อันตรายและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า

เผยแพร่เมื่อ:  12/07/2564....,
เขียนโดย คุณวุฒิพงศ์ ปัทมวิสุทธิ์
               ที่ปรึกษาและวิทยากรอิสระ
...,

 

เรื่อง อันตรายและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า

          ในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า กับอุปกรณ์และบริภัณฑ์ไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและบุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับไฟฟ้า จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดกฎหมาย ความรู้ทางทฤษฎีไฟฟ้า การป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า เพื่อเป็นพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ บริภัณฑ์ไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ช่างเทคนิค วิศวกร ในองค์กร และรวมถึงการติดตาม และควบคุม ตรวจสอบ การทำงานของช่างผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ให้มีความปลอดภัยในการทำงาน และใช้งานได้อย่างปลอดภัย

          การเกิดอันตรายจากไฟฟ้า จะแบ่งตามลักษณะของอันตรายได้ 2 ประเภทคือ อันตรายที่เกิดกับบุคคล และอันตรายที่เกิดกับทรัพย์สิน รวมถึงอาจมีผลกระทบที่เกิดต่อเนื่องจากอุบัติเหตุจากไฟฟ้า ทั้งบุคคล ทรัพย์สินและชุมชนหรือสาธารณะ

          ข้อแรก อันตรายจากไฟฟ้าที่เกิดกับบุคคล  แบ่งออกได้ดังนี้
                    
1.1 อันตรายจาก ไฟฟ้าดูด (Electric Shock)คือการมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านส่วนต่างๆของร่างกาย โดยที่ไฟฟ้าจะดูดเราได้ก็ต่อเมื่อร่างกายสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้า 2 จุด และ 2 จุดนั้นมีแรงดันไฟฟ้าต่างกัน ทำให้ร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรไฟฟ้า โดยความรุนแรงของอันตรายจากไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับ
                              - 
แรงดันไฟฟ้าระหว่างจุดสัมผัส 2 จุด
                              - 
ขนาดของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย
                              - 
ระยะเวลาที่สัมผัสกับไฟฟ้า
                              - 
เส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย
                              - 
ความต้านทานของร่างกาย ณ ขณะสัมผัสไฟฟ้า

                      การสัมผัสส่วนที่มีกระแสไฟฟ้า แบ่งการสัมผัสออกเป็น 2 แบบ คือ
                              
1) การสัมผัสโดยตรง ( Direct Contact ) ความหมายคือร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งไปสัมผัสกับตัวนำไฟฟ้าที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว หรือไปสัมผัสกับบริภัณฑ์ไฟฟ้าที่ไปสัมผัสกับตัวนำไฟฟ้าที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้วทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายไปครบวงจรที่แหล่งจ่ายไฟฟ้า 
                              
2) สัมผัสโดยอ้อม ( Indirect Contact ) ความหมายคือร่างกายส่วนใสส่วนหนึ่งไปสัมผัสกับบริภัณฑ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายครบวงจรลงดิน

                    1.2 อันตรายจาก ประกายไฟจากการอาร์ก (Arc Blast) การอาร์กเป็นการปล่อยประจุไฟฟ้าออกสู่อากาศในรูปของแสง เกิดขึ้นเมื่อมีแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมช่องว่างระหว่างสายตัวนำมีค่าสูงเกินค่าความคงทนของไดอิเล็กทริก (dielectric strength) ของอากาศ และมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอากาศ ทำให้เกิดดังนี้

                              1) รังสีความร้อน และแสงจ้า ทำให้เกิดอันตรายกับบุคคลที่ปฏิบัติงานหรืออยู่ใกล้
                              
2) โลหะหลอมละลาย สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์
                              
3) แผลไหม้จากการอาร์ก (Arc Burns) ความรุนแรงของแผนไหม้มี 3 ระดับดังนี้
                                        - 
ความรุนแรงระดับ 1 หนังกำพร้าผิวนอกถูกทำลายแผงบวมแดง
                                        - 
ความรุนแรงระดับ 2 หนังกำพร้าตลอดทั้งชั้นและหนังแท้ส่วนตื้นๆ ถูกทำลายผิวหนังอาจหลุดลอดเห็นเนื้อแดง น้ำเหลืองซึม การรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นขึ้นได้
                                        - 
ความรุนแรงระดับ 3 หนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อ และเซลประสาทถูกทำลาย ผิวหนังทั้งชั้นหลุดลอกเห็นเนื้อแดงหรือเนื้อไหม้เกรียม บาดแผลประเภทนี้จะไม่หายเอง จำเป็นต้องรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดมีการดึงรั้งของแผลทำให้ข้อยึดติด เมื่อหายแล้วจะเป็นแผลเป็น บางรายจะพบแผลเป็นที่มีลักษณะนูน ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง

                    1.3 อันตรายจาก การระเบิดจากการอาร์ก (Arc Blast) เมื่อเกิดจากการอาร์กขึ้นในพื้นที่จำกัด เมื่ออากาศได้รับความร้อนจากอาร์กก็จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว อาจมีอุณภูมิสูงและความดันที่มีพลังงานสูง ทำให้บุคคลได้รับอันตรายจากการกระเด็น กระแทกกับของแข็ง หรือทำให้ตกจากที่สูง

          ข้อสอง อันตรายจากไฟฟ้าที่มีผลกับทรัพย์สิน  แบ่งออกได้ดังนี้
                    
2.1 ไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit) คือการที่มีจุด 2 จุดในวงจรไฟฟ้ามาสัมผัสกัน มี 2 กรณี
                              1) การสัมผัสระหว่างสายไฟฟ้ากับสายไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้า
                              
2) การสัมผัสระหว่างสายไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้ากับดินหรือสายดิน

                           สาเหตุของไฟฟ้าลัดวงจร อาจเกิดจากฉนวนไฟฟ้าชำรุดหรือเสื่อมสภาพ แรงดันที่ใช้เกินขนาดหรือมีกระแสไฟฟ้าเกินขนาดของสายไฟฟ้า และอาจเกิดจากการที่ตัวนำไฟฟ้าที่มีแรงดันต่างกันสัมผัสกันหรือ ตัวนำไฟฟ้าสัมผัสกับดินหรือสายดิน
                           
เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรแล้วจะมีผลให้ สายไฟฟ้าหรือเครื่องใช้อุปกรณ์ บริภัณฑ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหาย อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ ทรัพย์สินเสียหาย และบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุได้รับอันตรายบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

                           แนวทางในการป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
                                   - 
เลือกอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งที่ได้มาตรฐานและติดตั้งตามมาตรฐานที่กำหนด
                                   - 
มีการตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่เป็นประจำ
                                   - 
ดูแลบำรุงรักษา ทำความสะอาดเครื่องใช้ บริภัณฑ์ไฟฟ้าตามรอบระยะเวลา
                                   - 
เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับรองมาตรฐาน มอก. หรือ มาตรฐานสากลอื่นๆ
                                   - 
ศึกษาและใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี ตามคู่มือที่ผู้ผลิดหรือวิศวกรกำหนด

                           เมื่อเกิดเพลิงไหม้ที่สายไฟฟ้า เครื่องใช้หรือบริภัณฑ์ไฟฟ้า การดับเพลิงไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรจะต้องดำเนินการดังนี้
                                   - 
ตัดแหล่งจ่ายไฟฟ้าออกถ้าทำได้
                                   - 
แจ้งเหตุเพลิงไหม้ยังหน่วยดับเพลิงในพื้นที่ หรือ โทรศัพท์แจ้งเหตุไฟไหม้ ขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 199
                                   - 
ใช้ถังดับเพลิง ชนิด Class C (Electrical Equipment) ที่เหมำสมกับเพลิงไหม้ที่เกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่
                                   - 
ในกรณีที่เป็นไฟฟ้าแรงสูง หม้อแปลง เสาไฟฟ้า ให้แจ้งการไฟฟ้าพื้นที่ การไฟฟ้านครหลวง แจ้งโทร 1130 และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโทร 1129

                    2.2 การเกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากความร้อนจากบริภัณฑ์ไฟฟ้า ยังเกิดจากอีกหลายสาเหตุดังนี้
                              - 
ความร้อนจากการใช้งานเกินกำลังของเครื่องใช้ไฟฟ้า
                              - 
ความร้อนจากการใช้งานตามปกติของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดความร้อน
                              - 
ความร้อนจากการต่อสายไฟฟ้าไม่แน่น ไม่ได้มาตรฐาน
                              - 
ขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษา
                              - 
การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าพร้อมกันหลายเครื่องในเต้ารับหรือสายพ่วงเดียวกัน
                              - 
ผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้ความสามารถในการซ่อมบำรุงษา
                              - 
การติดตั้งไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า 

          วิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า
                    วิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม การจัดให้มีข้อบังคับในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ โดยนายจ้างเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้างมีความปลอดภัย นายจ้างต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยให้มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558

                    สำหรับแนวทางการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ามีดังนี้
1. 
การป้องกันการสัมผัสโดยตรง  การป้องกันสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
                                        - 
ติดตั้งเครื่องปลดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อไฟฟ้ารั่ว
                                           
เบรกเกอร์จะไม่สามารถตัดวงจรได้เนื่องจากไฟฟ้าดูดได้ สำหรับไฟบ้าน 220 โวลต์ กระแสจะผ่านร่างกายประมาณ 0.22 แอมแปร์ หรือ 200 มิลลิแอมแปร์ ดังนั้นจึงต้องมีอุปกรณ์ตัดไฟฟ้ารั่วอัตโนมัติมาร่วมทำงานด้วยโดยใช้อุปกรณ์ประเภท RCD (Residual Current Devices) ทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้ารั่วได้ ซึ่งจะตัดวงจรเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วเกินมาตรฐานที่กำหนด
                                        - 
ใช้การหุ้มฉนวนส่วนที่มีไฟ (Insulation of Live Parts) เช่นสายไฟ หรือส่วนที่มีโอกาสสัมผัสส่วนทองแดงหรือโลหะที่มีไฟฟ้าได้
                                        - 
ป้องกันโดยวิธีใช้สิ่งกั้น หรืออยู่ภายในตู้ (Barrier or Enclosures) จะต้องทำการล็อกไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย
                                        - 
ป้องกันโดยใช้รั้วหรือสิ่งกีดขวาง (Fence or Obstacles) ทำการปิดกั้นไม่ให้ผ่านเข้าถึงได้
                                        - 
ติดตั้งอยู่ในระยะที่เอื้อมไม่ถึง (Placing Out or Reach) เช่นนำสายไฟฟ้า ไว้สูงจากพื้นดิน หรือห่างจากอาคารในระยะที่เอื้อมไม่ถึง
                                        - 
ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personnel Protective Equipment) ให้ผู้ปฏิบัติงาน สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น ถุงมือยางพร้อมถุงมือหนัง รองเท้านิรภัย หมวกนิรภัย

                              2. การป้องกันการสัมผัสโดยอ้อม การป้องกันสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
                                        - 
บริภัณฑ์ไฟฟ้าให้ทำการต่อสายดินและต้องมีเครื่องปลดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติ 
                                           
การต่อสายดินอย่างเดียวโดยไม่ติดตั้งเครื่องปลดวงจรไฟฟ้ารั่วอัตโนมัติ กรณีถ้ามีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจะรั่วไหลลงดิน เมื่อเราสัมผัสบริภัณฑ์ที่มีไฟฟ้ารั่วก็จะไม่ไหลผ่านร่างกายเรา ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัย แต่กระแสไฟจะรั่วไหลลงดินไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าได้ ดังนั้นถ้าติดตั้งคู่กับเครื่องปลดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติ จะทำให้ตัดออกจากระบบไฟฟ้าทันทีเมื่อกระแสรั่วไหลเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้  โดยมาตรฐานประเทศไทยอยู่ที่ 30 มิลลิแอมป์      
                                        - 
ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทฉนวน 2 ชั้น (Double Insulation) เครื่องใช้ประเภท 2 จะไม่มีสายดินแต่จะมีการออกแบบพิเศษให้มีความหนาของฉนวนมากกว่าปกติหรือมีฉนวนหนา 2 ชั้น โดยต้องมีเครื่องหมาย Double Insulation แสดงที่ผลิตภัณฑ์

                                        - ใช้แผ่นฉนวนไฟฟ้าปูพื้นเวลาปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ถ้าต้องปฏิบัติงานในพื้นที่มีแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50 โวลต์
                                        - 
ป้องกันโดยการใช้สิ่งของปิดกั้นส่วนที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ บริภัณฑ์ไฟฟ้า
                                        - 
ใช้แยกระบบไฟฟ้าออกจากกัน (Isolation) หรือ ระบบที่ไม่ต่อลงดิน โดยแยกระบบออกจากกันโดยไม่มีส่วนต่อเนื่องทางไฟฟ้าร่วมกัน
                                        - 
โดยใช้เครื่องใช้ที่ใช้แรงดันไฟฟ้าต่ำที่ไม่เกิน 50 โวลต์ เช่น สว่านไร้สาย ระบบส่องสว่างที่ใช้แรงดันจากแบตเตอรี่
                                        - 
ใช้วิธีจำกัดขนาดกระแสที่ไหลผ่านร่างกาย ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคล เช่น ระบบป้องกันไฟดูดในเครื่องเชื่อมไฟฟ้า
                                        - 
ถ้าร่างกายเปียกชื้นไม่ควรแตะต้องหรือสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น สวิตช์ไฟฟ้า ที่เป่าผม หรือส่วนที่เป็นโลหะของบริภัณฑ์ไฟฟ้า

                              3. ระยะปลอดภัยในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า
                                        - 
ระยะห่างต่ำสุดตามแนวนอน ระหว่างสายไฟฟ้ากับสิ่งก่อสร้าง เมื่อสายไฟฟ้าไม่ได้ยึดติดกับสิ่งก่อสร้าง
                                           
(อ้างอิงจากมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2556 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ)

 

                                        - ระยะห่างระหว่างสายกับผู้ปฏิบัติงาน/เครื่องมือกล มาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยของการทำงานใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงสำหรับบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานรวมถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมือกลทุกชนิด เช่น ปั่นจั่นรถเครน หรือวัตถุที่ถืออยู่ในมือ จะต้องอยู่ห่างจากส่วนที่มีไฟฟ้าแรงสูงไม่น้อยกว่าระยะดังต่อไปนี้ (อ้างอิงจาก การไฟฟ้านครหลวง)

                                        - ระยะห่างที่ปลอดภัยของการทำงานใกล้สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีฉนวนหุ้มทั้งในแนวดิ่งและแนวระดับสำหรับนั่งร้าน
                                           
(อ้างอิงจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยนั่งร้าน)

     บทส่งท้าย
     การใช้งานหรือการทำงานกับบริภัณฑ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า จะเกิดความปลอดภัย ต้องเริ่มจากการเลือกซื้อเลือกใช้อุปกรณ์ทีมีมาตรฐาน มีการใช้งานและการออกแบบติดตั้งโดย ช่างเทคนิคและวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถ มีการตรวจสอบบริภัณฑ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงระบบไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ
     ผู้ที่ติดตั้งหรือซ่อมบำรุงต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ตามข้อกำหนดขั้นต่ำด้านความปลอดภัยรวมถึงการใช้อุปกรณ์การป้องกันอันตรายตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน จะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยห่างไกลจากอุบัติเหตุต่างๆ

 

     สามารถติดตาม OHSWA Meet the Professional: Safety Engineer for Jor Por Series เรื่อง “พื้นฐานความปลอดภัยด้านไฟฟ้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยต้องรู้” ในเรื่องต่อไป

EP.2 : กฎหมายความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า ที่จป. ต้องรู้ (ส.ค. 2564)

EP.3 : PPE สำหรับงานไฟฟ้า (ก.ย. 2564)

EP.4 : การตรวจสอบระบบไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับ จป. (ต.ค. 2564)

EP. 5 : มาตรฐานทางไฟฟ้าและมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้า ในสถานประกอบกิจการ (พ.ย. 2564)

EP.6 : เครื่องมือวัดทางไฟฟ้าเบื้องต้น สำหรับ จป. (ธ.ค. 2564)

 

ข้อมูลอ้างอิง (Reference source)

  • กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 กระทรวงแรงงาน
  • ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
  • คู่มือเตรียมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 (ภาคความรู้) สำนักพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
  • มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2556 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
  • คู่มือการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย พ.ศ. 2561 การไฟฟ้านครหลวง
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ว่าด้วยนั่งร้าน
  • NFPA 70E Standard for Electrical Safety in the Workplace ของ National Fire Protection Association
Visitors: 365,741