ทำความเข้าใจใน “สปก.ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข”

เผยแพร่เมื่อ 29/07/2564...,
เขียนโดย ดร.สมนึก หงษ์ยิ้ม
               นักวิชาการสาธารณสุข...,

 

โหมโรง...ทำความเข้าใจใน “สปก.ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข”

          สวัสดีครับท่านผู้อ่าน  พบกัน EP แรก  เราจะมาเริ่มกันด้วย โหมโรง...ทำความเข้าใจใน “สปก.ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข” กันก่อนนะครับ

          ทำไม!!!..ต้องดำเนินการ สปก.ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข

          เป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรวัยทำงานจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานประมาณวันละ 8 - 9 ชั่วโมง สถานที่ทำงานจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและสุขภาพอย่างมาก เปรียบเสมือน บ้านหลังที่ 2 การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคในสถานประกอบการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การบริโภคอาหาร ที่สมดุล ไม่สูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัย จากการทำงาน โดยอาศัยความร่วมมือในการดำเนินงานของ เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และพนักงานในสถานประกอบการเป็นหลัก  การดำเนินงาน “ สปก.ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข”  ยึดกรอบแนวคิดโดยยึดกรอบแนวคิด Healthy Workplace ของ WHO ค.ศ.2008และส่วนหนึ่งดัดแปลงมาจากเกณฑ์การประเมิน “สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน” (Healthy Workplace) ซึ่งในปัจจุบันได้นำกรอบแนวคิดจากระบบการจัดการอาชีว  อนามัยและความปลอดภัย OHSAS 18001 : 2007 และ มอก. 18001 – 2554 เรียกได้ว่าเราทำครั้งเดียวได้ดำเนินการหลายมาตรฐานเลยทีเดียว และผลลัพธ์สูงสุดทำให้ คนในที่ทำงานเราปลอดโรค  ปลอดภัย กายใจเป็นสุขอีกด้วย

อย่างไร...ถึงเรียกว่า ปลอดโรค  ปลอดภัย  กายใจเป็นสุข  เรามาทำความเข้าใจคำนิยามกัน.....

          กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำนิยามที่สำคัญไว้ ดังนี้

          ปลอดโรค หมายถึง สถานประกอบการมีการดำเนินการด้านการป้องกันหรือควบคุมโรคไม่ติดต่อ (เช่น โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็ง โรคฟันผุ โรคปริทันต์ และรอยโรคในช่องปาก)โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โรคติดต่อ โรคที่เป็นปัญหาของพื้นที่ รวมทั้งการดำเนินงานเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค และอุบัติเหตุจราจร เช่น การรับประทานอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ การออกกำลังกายน้อย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเสพสิ่งเสพติด พฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย การไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

          ปลอดภัย หมายถึง สถานประกอบการมีการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดขณะทำงานหรือช่วงเวลาที่ปฏิบัติงาน ทำให้เกิดการบาดเจ็บพิการ ทุพพลภาพ ตาย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งหลัก ๆมี 2 สาเหตุ คือ การกระทำที่ไม่ปลอดภัย และสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น ความปลอดภัย ทั้งในด้านอาคาร สถานที่เครื่องจักรเครื่องมือ และสภาพแวดล้อมใน การจัดการป้องกันและมีมาตรการการทำงานลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องมลพิษทางเสียงฝุ่นละออง ความสั่นสะเทือน สารเคมี น้ำเสีย และมูลฝอย รวมถึงการจัดพื้นที่ทำงานให้มีความเหมาะสมเอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มาติดต่อ

          กายใจเป็นสุข หมายถึง สถานประกอบการที่มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตให้กับผู้ปฏิบัติงานทั่วไปมีการจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ผู้ปฏิบัติงานที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงต่อการติดสุรา/ยาเสพติด ผู้ปฏิบัติงานที่มีปัญหาหนี้สิน/ปัญหาครอบครัว ผู้ปฏิบัติงานที่ลาป่วยบ่อย เป็นต้น และการจัดกิจกรรมที่เสริมคุณค่าและความภาคภูมิใจให้ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ปฏิบัติงาน“มีความสุข” ตามความหมายขององค์การอนามัยโลก คือการที่มีสภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น มีการปรับตัวและจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้สึกเกิดความขัดแย้งภายในใจ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและมีผู้ยอมรับ

          EP  นี้ เราเรียนรู้กันเท่านี้ก่อนนะครับ อย่าลืมติดตาม  EP  หน้านะครับ เราต้องช่วยกันทำให้สถานประกอบการ  สถานที่ทำงาน เราปลอดโรค ปลอดภัย  ภายใจเป็นสุข

 

 

          เอกสารอ้างอิง
                    
กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2560). เกณฑ์การพัฒนา และแนวทางการดำเนินงานสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุขฉบับยกระดับการพัฒนา พ.ศ. 2563. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์

 

Visitors: 367,546