ตอบคำถามจากช่อง Chat Zoom

โดย สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
เผยแพร่เมื่อ 08/08/2564...,

 

ตอบคำถามจากช่อง Chat Zoom ในหลักสูตรการสนทนาวิชาการ
“นักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยกับวิกฤตโควิด
ในโรงงานอุตสาหกรรม”

          ในระหว่างการสนทนาดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 กค. 64 มีท่านผู้ฟังหลายท่านได้ chat ถามคำถามต่าง ๆ ในโอกาสนี้ทางวิทยากรได้ให้คำตอบมา และรวมถึงท่านสมาชิกสอป. ที่ได้ช่วยตอบคำถามด้วย

          สอป. หวังว่าจะเป็นประโยชน์โดยรวมไม่เฉพาะท่านที่เข้าฟังเท่านั้น แต่กับทุกท่านที่ต้องดำเนินงานจัดการกับวิกฤตโควิดในครั้งนี้

          1. สอบถาม GC ครับ เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นภาคสมัครใจ เคยเจอเคสที่พนักงานไม่ร่วมมือในการฉีดวัคซีนไหมครับ? และถ้าเจอเคสแบบนี้ บริษัทมีการบริหารจัดการอย่างไร?
          คำตอบโดย Prakart Buttamart
          
การฉีดวัคซีนภาคสมัครใจ ของ GC ... ตอนแรก ไม่ประสงค์จะฉีด มากกว่า 20% เราก็ใช้วิธีให้ความรู้ ให้ข้อมูลต่างๆ ทุกวาระ ทุกโอกาส แต่ดูเหมือนว่า ได้ผลเพียงเล็กน้อย ... แต่พอมีการติดเชื้อคนใกล้ตัว ประกอบกับ เพื่อนๆ เริ่มเปลี่ยนใจ จึงมีเหตุการณ์ peer pressure เพื่อนที่เป็น influencer ช่วยกันชวนไปฉีด ... ปัจจุบัน มีเพียง 2% เท่านั้น ที่ไม่ประสงค์จะฉีด .... ลองใช้เทคนิก peer pressure ดูครับ

          2. สอบถาม GC ครับ ในกรณีที่มีการ activate BCP และคนที่เกี่ยวข้องที่ work from home การสื่อสารใน BCP ทีมใช้แบบ online หรือต้องมารวมตัวกันครับ
          
คำตอบโดย Prakart Buttamart
          
การซ้อม BCP เคยทำตั้งแต่ระลอก 1 แล้วครับ ยังพอรวมตัวได้บ้าง ปัจจุบัน จะเป็นการ revisit โดยการพูดคุย table top ผ่าน MST มากกว่า

          3. มีการแนะนำบับเบิ้ลแอนด์ซีลด้วยมั้ยคับอาจารย์
          
คำตอบ : เนื่องจากโควิดติดจากคนสู่คนเป็นหลัก หลักการของบับเบิ้ลแอนด์ซีล คือ Isolate ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรออกจากผู้คนภายนอก และการทำให้เกิด Bubble ย่อยๆ ในสถานประกอบการเพื่อลดการแพร่กระจายในวงกว้าง ซึ่งจากประสบการณ์ที่มีการทำ ไม่ใช่ผู้ปฏิบิติงานทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble and Seal เราจะให้เข้าสู่ Bubble and Seal เฉพาะ ตำแหน่งงานที่ผลต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจเท่านั้น เนื่องจาก การทำ Bubble and Seal นั้นมีค่าใช้จ่าย หลักปฏิบัตินี้ เราทำก่อนที่จะมีหลักเกณฑ์ของราชการที่กำหนดชัดเจน แต่ปัจจุบัน Bubble and Seal เป็นมาตรการที่เป็นกลยุทธ์หลักของรัฐบาลเนื่องจาก Cluster จากโรงงานมีเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันจึงมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจากราชการ และมีหน่วยงานราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ขอแนะนำว่าให้ปรึกษากับสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด หรือ หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขในแต่ละเขตพื้นที่ เพราะ แต่ละพื้นที่ อาจจะมีกฎระเบียบหรือดุลยพินิจที่แตกต่างกัน (Bubble and Seal เดิมทีเป็นแค่มาตรการเสริมภาคสมัครใจเพื่อป้องกันโควิด แต่ปัจจุบันจะเป็นกฎหมายที่มีหน่วยงานราชการมากำกับดูแล)

          4. กรณีให้บ้านหรือโรงงานเป็นสถานที่กักตัวสีเขียวหรือสีเหลือง ขยะติดเชื้อต้องดำเนินการอย่างไร
          
คำตอบ: กรณี ให้โรงงานเป็นสถานที่กักตัว โรงงานสามารถจัดการขยะติดเชื้อสามารถจัดการเหมือนกับขยะติดเชื้อจากห้องพยาบาล แต่จะมีปริมาณที่มากกว่า ดังนั้น ต้องทำการจัดหาบริษัทรับกำจัดให้มารับไปกำจัดตามปริมาณที่เกิดขึ้น แต่หากเป็นการกักตัวที่บ้านจะให้พนักงานเป็นผู้รับผิดชอบตามระเบียบของสาธารณสุขในแต่ละชุมชน ซี่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่ทางราชการค่อนข้างจะกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะ ในอนาคตอันใกล้จะมีขยะติดเชื้อจากบ้านเป็นจำนวนมาก เช่น Antigen Test Kid เป็นต้น ขอให้ติดตามมาตรการของภาครัฐและรณรงค์ให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามหลักวิชาการต่อไป

          5. อาจารย์ ถ้ามีผู้รับเหมาในงานหลายบริษัทฯ เราจะสามารถแยกกลุ่ม แบบนี้อย่างไรครับ
          
คำตอบ: จากประสบการ์ปกติผู้รับเหมาจะรับงานเป็นแต่ละ Package งาน เช่น บริษัทหนึ่งรับงาน Civil , บริษัทหนึ่งรับงานไฟฟ้า , บริษัทหนึ่งรับงานระบบดับเพลิง , บริษัทหนึ่งรับงานทำฝา , บริษัทรับงานตกแต่งภายใน , บริษัทรับงานปูกระเบื้อง เป็นต้น หากงานรับงานแบบเดียวกันแต่มีหลายบริษัท เช่น มี 3 บริษัทรับงานปูกระเบื้อง , มี 2 บริษัทรับงานไฟฟ้า เป็นต้น นั้นอาจจะมีผลต่อการคุมคุณภาพของงาน และเกิดความลำบากในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เข้าใจว่าเป็นหลายๆ บริษัททำงานในพื้นที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน ซึ่งการบริหารจัดการในส่วนนี้ทำได้โดย “การวางแผนให้เข้าคนละช่วงเวลา หรือ หากไม่สามารถทำได้ก็ทำงานโดยเว้นระยะห่างจากกัน หรือ หากไม่สามารถทำได้ก็ให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน”

          6. แยกขยะติดเชื้อแล้วกำจัดอย่างไรคะ
          
คำตอบ: หากเป็นขยะติดเชื้อที่เกิดจากห้องพยาบาลก็จะมีถังขยะติดเชื้อในห้องพยาบาล (ก่อนโควิดก็เป็นเช่นนี้) แต่พอเข้าช่วงโควิดก็มีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น นั้นคือ หน้ากากอนามัย ซึ่งการจัดการเราก็จะกำหนด “ถังขยะสำหรับใส่หน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ และ วางไว้ในที่ต่างๆ” แล้วจากนั้น “ก็จะรวบรวมมาเก็บไว้ในที่ที่กำหนด” แล้วรวบรวมส่งบริษัทรับกำหนดภายนอก (หากมีปริมาณไม่มากก็จัดการเหมือนขยะที่เกิดจากห้องพยาบาล แต่หากมีปริมาณมากขึ้นก็ให้จัดจ้างบริษัทรับกำจัดมารับไปกำจัดต่อไป เช่น ที่บริษัททำอยู่ก็ส่งไปเผาที่เตาเผาขยะของ อบจ. เป็นต้น)

          7. บริษัทฯจัดหา mask ให้พนักงาน หรือพนักงานต้องจัดหามาเองค
          
คำตอบ: ช่วงแรกๆ ที่ขาดแคลนตามระลอกแรก ก็จะแจกให้กับพนักงานโดยแจกหน้ากากผ้า แต่ปัจจุบันหน้ากากไม่ได้ขาดแคลนก็ให้พนักงานจัดหาเอง

          8. อยากทราบเรื่องขยะติดเชื้อว่ากำจัดอย่างไรค่ะ ในกรณีที่โรงงานหรือแคมป์คนงานต้องทำ factory isolation มีหน่วยงานใดรับผิดชอบไหม
          
คำตอบ: จัดการขยะติดเชื้อสามารถจัดการเหมือนกับขยะติดเชื้อจากห้องพยาบาล แต่จะมีปริมาณที่มากกว่า ดังนั้น ต้องทำการจัดหาบริษัทรับกำจัดให้มารับไปกำจัดตามปริมาณที่เกิดขึ้น เช่น ปัจจุบันบริษัทก็ได้จัดจ้างบริษัทรับไปเผาที่เตาเผาขยะของ อบจ. เป็นต้น

          9. ที่โรงงานมีแต่พม่าเยอะมาก เขาอยากฉีดแต่ทำไมเขาไม่ฉีดคนงานต่างชาติบ้างครับ
          
คำตอบ: ในช่วงที่มีการระบาดในบางพื้นที่ก็จะมีการจัดให้กับแรงงานต่างด้าวด้วย เช่น แรงงานต่างด้าวในเขต กทม. ช่วงที่มีการระบาดหนัก เป็นต้น ดังนั้น จะต้องติดตามข่าวสาร และรีบลงทะเบียนจองวัคซีนเป็นคนแรกๆ โดยปกติแรงงานต่างด้าวก็จะถูกจัดจ้างผ่านบริษัทคนกลาง เราสามารถผลักดันผ่านบริษัทเหล่านี้ให้ดำเนินการ และหากในพื้นที่ที่ภาครัฐยังไม่จัดให้ หากแรงงานพม่าอยู่ในตำแหน่งงานที่สำคัญหากต้องหยุดงานจะทำให้กิจการหยุดชะงัก หากมีการเปรียบเทียบระหว่างความเสียหายต่อธุรกิจ สูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัคซีนทางเลือก มากๆ ก็ควรนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของโรงงานให้จัดซื้อวัคซีนทางเลือก มาให้แรงงานดังกล่าว ซึ่งวิธีการนี้จะเกิดประโยชน์กับทั้งองค์กรของเราและกับบริษัทที่เป็นตัวกลางจัดหาแรงงานพม่ามาทำงาน

          10. อยากทรายว่าการบริหารการกำจัดขยะติดเชื้อ รวมถึงน้ำเสียก่อนปล่อยออกมีการบริหารจัดการอย่างไรในสถานะการโควิดตอนนี้ครับ
          
คำตอบ: จัดการขยะติดเชื้อสามารถจัดการเหมือนกับขยะติดเชื้อจากห้องพยาบาล แต่จะมีปริมาณที่มากกว่า ดังนั้น ต้องทำการจัดหาบริษัทรับกำจัดให้มารับไปกำจัดตามปริมาณที่เกิดขึ้น เช่น ปัจจุบันบริษัทก็ได้จัดจ้างบริษัทรับไปเผาที่เตาเผาขยะของ อบจ. เป็นต้น และ น้ำเสียที่ปล่อยก็จะมีระบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก โดยก่อนปล่อยก็มีการควบคุมให้มึคุณภาพตามกฎหมายก่อน (ปกติขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้น จะไม่ให้ปนเปื้อนกับน้ำเสีย หรือ ถ้าจะปนเปื้อนก็ให้น้อยที่สุด)

          11. สถานที่พักของพนักงาน ได้มีการควบคุมการมาเยือนของญาติพนักงาน หรือการที่พนักงานออกจากที่พักไปพบเพื่อน หรือญาติที่อื่น หรือไม่อย่างไรคะ
          
คำตอบ: หากหมายถึงพักที่เข้าสู่กระบวนการ Bubble and Seal จะไม่อนุญาตให้ใครมาพบปะอย่างอิสระ โดยจะจัดให้วันและเวลาให้ เช่น ทุกๆ 2 สัปดาห์จะจัดให้ 1 วัน , ทุกๆ สัปดาห์ ให้ญาตินำของมาฝากได้ 2 วัน เป็นต้น โดยการเยี่ยมนั้น จะมีมาตรการ DMH อย่างเคร่งครัด

          12. ปัจจุบันมีการติดเชื้อในครอบครัว มีมาตรการอย่างไรบ้างคะ เพื่อไม่ให้พนักงานติดเชื้อในครอบครัวและนำเชื้อมาติดต่อในโรงงาน
          
คำตอบ: ต้องเริ่มจากการสร้าง Awareness และ วินัยของผู้ปฏิบัติงานก่อน ว่าหากมี Case จะต้องรายงานทันที โดยที่บริษัทจะมี “ระบบ Timeline ประจำวัน ทุกคนต้องทำ 100%” และ “กรณีที่มีความเสี่ยงจะต้องรายงานทันที” ที่สำคัญอย่าสร้างบรรยากาศแห่งการลงโทษ เช่น ใครไม่แจ้งลงโทษ , ใครผิดกฎแล้วไปเสี่ยงก็ลงโทษ ฯลฯ เพราะ การบรรยากาศแห่งการลงโทษ จะทำให้เขาไม่กล้าพูดความจริง และ เมื่อเขาแจ้งมาก็จะมีทำตามมาตรการ “สอบหาผู้สัมผัสใกล้ชิด เฉพาะ คนในโรงงานเท่านั้น แล้วเมื่อได้ผู้สัมผัสใกล้แล้วก็ให้เข้าสู่การ Quarantine ต่อไป” และ “ผู้ที่ครอบครัวมีคนติดเชื้อ ก็จะส่งเขาไปตรวจเชื้อ” (ทั้งการให้กักตัว , การการส่งตรวจเชื้อ และ วันที่หยุดระหว่างการรักษา (กรณีติดเชื้อ) พนักงานจะได้ค่าแรงและสวัสดิการเท่าเดิม)

          13. ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนของเถ้าแก่ (บริษัทผู้รับเหมา) ไม่ได้มาคิดเงินกับลูกค้า ใช่มั๊ยคะ
          
คำตอบโดย Chalatip I.
          
ค่าใช่จ่ายในการฉีดวัคซีนไม่ได้มาเก็บกับลูกค้าครับ คือ เราต้องเทียบ ผลดี ผลเสีย และค่าใช้จ่ายให้เขาเห็นครับ ไม่ใช่บอกแค่ค่าฉีดคนล่ะเท่าไร หน้าที่ จป. คือ ให้เขาเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนด้าน Safety ครับ

          14. มีระเบียบที่กำหนด แต่พนักงานไม่ทำ มีแนวทางเชิญชวนอย่างไรบ้าง
          
คำตอบโดย Chalatip I.
          
พนักงานไม่ทำตามกฏ : แนะนำให้พูดคุยแบบเป็นกันเองให้มากขึ้นแล้วหา Fact ส่าทำไมเขาไม่ทำ เพราะอะไร จากนั้นทำ2 มาตรการพร้อมๆ กัน ทั้งลงโทษ และให้รางวัล
          
การลงโทษ ให้ทำในที่ลับ เรียกมาคุย ถ้าจะแจ้งให้คนอื่นรู้ไม่ต้องระบุชื่อ ให้บอกแค่ว่า ทำอะไรฝ่าฝืนกฏ แล้วจะเกิดผลอย่างไร แต่การให้รางวัล ต้องชมเชย และประกาศให้โลกรู้ครับ

          15. SMEขาดงบประมาณเชิงป้องกันไปถึงครอบครัวเพื่อนพนักงาน
          
คำตอบ: หากนำเสนอมุมของสวัสดิการในเชิงของการป้องกันโควิดใหไปถึงครอบครัวนั้น เป็นเรื่องยากที่จะผ่าน .... จากประสบการณ์ เราจะนำเสนอในมุมว่า "ครอบครัวคือแหล่งที่พนักงานสามารถติดเชื้อ แล้วนำมาแพร่ในโรงงานได้ ดังนั้น หากไม่สามารถ bubble and seal พนักงานออกจากครอบครัวได้ 100% ต้องจัดให้กับพนักงานด้วย (ชี้ให้เห็นว่า คนติดเชื้อ 1 คน ผลเสียต่อธุรกิจเป็นเงินเท่าไหร่) เช่น ที่บริษัททำกันอยู่ วัคซีนที่บริษัทได้ซื้อมา ก็จัดวัคซีนทางเลือกที่ซื้อมานี้ ฉีดให้ครอบครัวพนักงาน ด้วย เป็นต้น (หลักการนำเสนอ ต้องนำเสนอในมุม ของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ขององค์กรเขา อย่านำเสนอในมุมที่พนักงานอยากได้สวัสดิการ)

          16. ถ้าโรงงานหรือแคมป์คนงานมีการตรวจหาเชื้อแบบ rapid Ag test ให้แก่พนักงานแล้วพบว่ามี่ผลเป็น+ เกิน10%ของพนักงานทั้งหมด และในกรณีที่สายการผลิตผลเป็น+ มากกว่า 50% ของพนักงาน จนต้องปิดโรงงาน 14วัน เพื่อทำ factory isolation เนื่องจากไม่อยากให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ภายนอก และเพื่อรอไปตรวจ real time pcr ที่โรงพยาบาล แต่กว่าจะได้คิวตรวจก็ผ่านไปแล้ว 7วัน ภ้าผลเป็น+ คุณหมอจะออกใบรับรองแพทย์ให้หยุดอีก 14วัน ในกรณีนี้ พนักงานฝ่ายผลิตต้องหยุดงานรวมทั้งสิ้นเกือบเดือน ทำให้สายการผลิตหยุดชะงัก แบบนี้มีแผนการดำเนินการเช่นไรคะ
          
คำตอบ: ต้องเริ่มต้นจากการวางแผนไว้ตั้งแต่ต้น หากมีการแบ่งกลุ่มพนักงานออกเป็นกลุ่มย่อยโดยมีการ Isolate กันได้อย่างแข็งแรง และ หากสามารถติด CCTV ได้ด้วยจะดีมาก เพราะ ตรงนี้สำคัญตอนที่เราทำ Contact tracing ผู้ใกล้ชิด หากเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีใครบ้างเป็นผู้ใกล้ชิด เราก็จะอาจจะถูกสั่งหยุดทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ และ ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับราชการ เราจะมีผลกระทบที่น้อยลง สำหรับ การ impact กับพื้นที่มีน้อย เพราะ แค่ทำความสะอาดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่เพียงพอแล้ว (จากประสบการณ์ มีผู้ติดเชื้อ เราพิสูจน์ให้ราชการทราบได้ว่า มีผู้ใกล้ชิดตามหลักเกณฑ์ของราชการจำนวนเท่านี้ ไม่ใช่ทั้งหมด เราจึงเหลือคนทำงานจำนวนมากพอ และ สำหรับพื้นที่ก็ทำความสะอาดตามหลักวิชาการ พร้อมกับมีมาตรการและนำเสนอให้ราชการมีความมั่นใจ จากเหตุการณ์นั้นเราก็สามารถผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของกิจการ) อีกอย่างหนึ่ง แผน Business Continuity Plan (BCP) มีความสำคัญมาก ต้องวางแผนไว้ก่อนในแต่ละเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และจัดให้มีการซ้อมบ่อยๆ เพราะ การเวลาที่ซ้อมโดยเฉพาะตอนที่ Contact tracing จะรู้เลยว่า ถ้าไม่ป้องกันตัวเอง ป่วยแค่ 1 คน จะมีคนเสี่ยงต่อเป็น 100 คน ซึ่งการทำให้เห็นภาพแบบนี้ จากประสบการณ์จะทำให้เกิด Awareness ทั้งกับระดับจัดการ และ ผู้ปฏิบัติงาน (ทั้งนี้ ตามคำถามเข้าใจว่าเป็นหลักเกณฑ์ bubble and seal ของภาครัฐ แนะนำให้ศึกษามาตรการ bubble and seal ของภาครัฐ แล้วนำมาปฏิบัติ ซึ่ง bubble and seal นั้น มองในมุมของความต่อเนื่องทางธุรกิจไว้ให้แล้วส่วนหนึ่ง)

          17. กรณีแบ่งโซนทำงานแล้ว แต่จะมีพนักงานบางกลุ่มที่ต้องไปทุกพื้นที่ พอมีวิธีติดตามเค้าได้ไหมคะว่าจะไม่ไปคุยกับใครนานๆค่ะ
          
คำตอบโดย Chalatip I.
          
เราใช้หลายๆมาตรการป้องกันร่วมกัน หลายๆทางครับ เพราะแต่ล่ะมาตรการมีจุดอ่อนที่ทำได้ไม่ 100% อย่างเช่น ทุกคนต้องใส่mask แต่จะถอดตอนกินน้ำ เช่นกัน พนักงานที่ต้องเดินไปหลายๆ บริเวณก็ห้ามถอดmask ครับ ใช้หลายๆ วิธีร่วมกันครับ

          18. SMEกำหนดนโยบายวิธีการแต่ก็ขาดอุปกรณ์สนับสนุนเชิงป้องกัน หาซื้อไม่ได้ งบไม่เพียงพอ
          
คำตอบ: การลงทุนนั้น ถูกแพงไม่สำคัญ สำคัญที่กว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม เราต้องชี้ให้ผู้ตัดสินใจ เห็นว่า หากไม่มีสิ่งนี้ แล้วถ้าเกิดสิ่งนี้ จะทำให้เกิดผลเสียแบบนี้ โดยแสดงออกมาเป็นตัวเงินและตัวเลขอย่างมืออาชีพ ไม่มีนักธุรกิจที่เก่งคนไหน ที่กล้าพอที่จะเสี่ยง (จากประสบการณ์ หากนำเสนอได้แบบนี้ ผ่านทุกโครงการ)

          19. กรณีพนักงานติดเชื้อ หรือกลุ่มที่พนักงานที่อยู่ในสถานะการกักตัว แนวทางการพิจารณาสิทธิการลา อย่างไร
          
คำตอบ: ให้หยุดงานเพื่อกักตัว หรือ ให้หยุดงานเพื่อรักษา โดยรายได้ และสิทธิต่างๆ ได้เท่าเดิม (สถานะการณ์โรคระบาด ไม่มีใครอยากเสี่ยง ไม่มีใครอยากป่วย ถ้าให้เขาเสียสิทธิ์ มันจะเป็นธรรมกับเขาเลย … ใจเขาใจเรา)

          20. พนง.ตรวจ rapid test แล้วไม่ติดเชื้อ ต้องเช็คซ้ำอีกในระยะเวลาเท่าไรคะ
          
คำตอบ: เข้าใจว่าหมายถึง Rapid Antigen test (ไม่มีใช่ rapid antibody test ถ้าเป็น antibody test ไม่เหมาะนะครับ) สำหรับ Rapid antigen test เป็นลบ ก็ยังไม่สรุปว่า “ไม่ป่วย 100%” ต้อง Confirm ด้วย RT-PCR เท่านั้น สำหรับ การตรวจซ้ำขึ้นอยู่กับกระบวนการของบริษัทที่กำหนด เช่น ที่บริษัทในช่วงนี้ที่มีการระบาดหนัก จะนำไปผูกกับการรับวัคซีน ถ้าฉีดวัคซีนครบแล้ว เราจะตรวจซ้ำทุกๆ 1 เดือน แต่ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนเราจะตรวจทุกๆ 1 สัปดาห์ เป็นต้น

          21. เนื่องจากที่บริษัทฯ มีตู้กดน้ำดื่มให้พนักงาน ลักษณะของที่กดน้ำเป็นแบบใช้แก้วดันแล้วน้ำจะไหลลงมา แต่มีคอมเม้นท์ว่าเป็นจุดเสี่ยงทำให้ต้องยกเลิกการใช้งาน พอจะมีคำแนะนำวิธีการที่จะหาน้ำให้พนักงานไหมคะ นอกจากการซื้อน้ำขวดแจก เนื่องจากพนักงานมีหลักพันคนค่ะ
          
คำตอบ: ถ้าไม่สามารถใช้ Sensor เปิดน้ำได้ หรือ มีคนจำนวนมากยากในการควบคุม เห็นด้วยว่าควรยกเลิกการใช้ชั่วคราวในช่วงที่มีระบาดอย่างหนัก โดยแจกน้ำดื่มขวดสำเร็จรูปแทน

          22. เรียนถามคุณอนุสรณ์ การลางานเพื่อกักตัว จะถือเป็นการลาป่วยไหมค่ะ เพราะสถิติการลาป่วยอาจมีผลกับโบนัส ซึ่งิอาจทำให้พนักงานไม่กล้าบอกความจริง มีการชี้แจงกับพนักงานอย่างไรค่ะ
          
คำตอบโดย anusorn pintu
          
แนะนำให้ติดตามในเพจกฎหมายแรงงานครับ จะมีการแชร์เคสให้เราได้ปรับใช้ได้

          23. สอบถามครับ เกี่ยวกับข้อมูลหน้ากากอนามัยที่ต้องใช้ ที่มีVFE99.99% BFE99.99% PFE99.99% ผมเคยถกเถียงกันเรื่องข่าวจริงข่าวปลอม ขอความจริงหน่อยครับและจำเป็นที่ต้องหาใช้แบบนี้หรือป่าว
          
คำตอบ: หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้ผลิตตามมาตรฐานใด ๆ เลย รวมถึงหน้ากากผ้าที่ตัดเย็บกันเอง พวกนี้เราจะใช้ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงน้อยนะ เช่นในบ้านเรา รอบ ๆ หมู่บ้านเรา ในที่สาธารณะที่โล่ง การระบายอากาศดี ไม่มีคนแออัด และควรใช้วันเดียวทิ้งหรือล้างทำความสะอาดเลย เพราะตัวหน้ากากเองไม่ได้กันการซึมซับของเหลวที่เราไอ จาม หรือจากการพูดแล้วน้ำลายกระเด็นออกมา (หรือจากที่คนอื่นไอ จาม) หากใช้ต่อ ก็จะกลายเป็นเราเอาสิ่งสกปรกมาครอบจมูกเรา แทนที่จะปลอดภัยก็กลับจะเป็นอันตรายได้ บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยเช่นนี้
          
แต่หากเป็นหน้ากากที่ได้มาตรฐาน จะเป็นมาตรฐานของ ASTM 2100 กำหนดการทดสอบไว้ 5 เรื่องด้วยกัน ซึ่งรวมถึงเรื่อง VFE, BFE และ PFE

          24. ตอนนี้ถ้าตรวจพบเชื้อโรงงานต้องจัดที่พักให้พนง. ต้องประสานที่ใดให้พนง.ได้รับยา
          
คำตอบ: ติดตามข่าวสารจากภาครัฐ ครับ แม้ว่าตอนนี้จะติดต่อได้ยาก หรือ ได้รับการสนันสนุนช้า แต่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบของเขา เพราะ อย่างน้อยที่สุด เขาจะได้มีข้อมูลเรา https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Content_Grid_Home_7_8?contentCategoryId=8

          25. สอบถามเกี่ยวกับมาตรการหากพนักงานติด covid-19 แล้วกับมาทำงาน มีมาตรการ อย่างไรบ้างค่ะ
          
คำตอบ: จากประสบการณ์ ก็ยึดตามใบรับรองแพทย์ ครับ โดยแพทย์พิจารณาแล้วให้ออกจากโรงพยาบาล และ พักฟื้นที่บ้านต่ออีกตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ หลังจากนั้น ก็ให้กลับมาปกติ โดยปฏิบัติเหมือนคนอื่นๆ ยึดมาตรการ DMHTTA อย่างมีวินัย อย่างต่อเนื่อง

          26. ขอทราบแนวทางหรือวิธีการหาว่าพนง.ติดเชื้อมาจากที่ใด เพราะรอภาครัฐไม่น่าจะทันกา
          
คำตอบ: จากประสบการณ์จะไม่รอภาครัฐ แต่มีระบบให้พนักงานรายงาน และ สอบสวนหาผู้ที่พนักงานไปติดเชื้อมา รวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิดที่เป็นพนักงานของบริษัทกับผู้ติดเชื้อเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรการ (ถ้าหาไม่เจอว่าติดมาจากไหน จริงๆ ก็เคยมี case แบบนี้ … .เราก็จะย้อนหลังไปเลย 14 วัน เพื่อดูว่า 14 วันนี้ ในทีทำงานไปที่ไหนบ้าง ไปใกล้ชิดกับใครบ้าง เพื่อดำเนินการ “กักตัว ตรวจเชื้อ และ Isolation” ต่อไป)

          27. จุดเสี่ยงที่ตู้กดน้ำอีกอย่างนอกจากที่กด ยังมีบริเวณปากก๊อก เนื่องจากเวลาพนักงานนำแก้วไปรองรับน้ำ ปากแก้วอาจจะไปสัมผัสบริเวณปากก๊อกด้วย เชื้ออาจจะอยู่บริเวณนั้นได้ แบบนี้ควรทำเช่นไรคะ ควรยกเลิกการใช้ตู้กดน้ำไปเลยหรือไม่
          
คำตอบ: ถ้าไม่สามารถใช้ Sensor เปิดน้ำได้ หรือ มีคนจำนวนมากยากในการควบคุม เห็นด้วยว่าควรยกเลิกการใช้ชั่วคราวในช่วงที่มีระบาดอย่างหนัก โดยแจกน้ำดื่มขวดสำเร็จรูปแทน

          28. สอบถามได้ไหมคะว่า หากเป็นคนในกลุ่มเสี่ยงที่อาจอยู่ในกลุ่ม วง หนึ่ง วงสอง จำเป็นต้องตรวจ แอนทิเจน หรือ พีซีอาร์ เทส กี่ครั้ง จึงจะสามารถกลับเข้าไปทำงานได้คะ เทสโควิด หนึ่งครั้งพอไหมคะ
          
คำตอบ: ด้วยหลักการการตรวจ Rapid Antigen test ถ้าผลเป็นบวกจะต้องยืนยันด้วย RT-PCR จากประสบการณ์จะตรวจกี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับว่า “ตรวจหลังจากสัมผัสกับคนที่ติดเชื้อมาแล้วกี่วัน” หากยังไม่ถึง 7 วัน จะต้องตรวจอีกครั้ง (หลักวิชาการจะบอกว่า ถ้าคนไปรับเชื้อมา จะตรวจเจอเชื้อ ก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 5-7 วัน ถ้าจะให้มั่นใจ 7 วันดีที่สุด) เช่น สัมผัสผู้ติดเชื้อมาเมื่อ 2 วันที่แล้ว เกิดความกังวลจึงไปตรวจเชื้อครั้งแรกในวันนั้นเลย ถ้าผลเป็น “ลบ” เราจะตรวจอีกครั้งในวันที่ 7 …. แต่ถ้าตรวจครั้งแรกหลังจากเป็น Day 7 หลังจากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เราจะไม่ตรวจซ้ำ เป็นต้น โดยถ้าคนนี้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด แม้จะตรวจเชื้อแล้ว เป็น “ลบ” ก็จะต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ก่อน จึงจะให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง (ที่สำคัญ จะต้องระวัง Rapid antigen test แม้ว่าผลจะเป็น "บวก หรือ ลบ" เราจะยังไม่สรุปว่า "ติดเชื้อ หรือ ไม่ติดเชื้อ" หากเป็นผลบวก ต้องยืนยันด้วย RT-PCR ทุกครั้ง และ แม้ว่า RT-PCR จะเป็นลบ ก็ให้กักตัวจนกว่าจะครบ 14 วัน (ระยะฟักตัว) ก่อนกลับมาทำงาน))


สอป. หวังว่าคำตอบเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทุกท่าน

#OHSWA_PCD_Initiative

Visitors: 367,512