ว่าด้วยเรื่องหน้ากากอนามัย (ที่มีหลากหลายเหลือเกิน)

เผยแพร่เมื่อ: 28/05/2564....,
โดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา

ว่าด้วยเรื่องหน้ากากอนามัย (ที่มีหลากหลายเหลือเกิน)

           ก. ก่อนนี้ เรา “จำใจ” ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน PM 2.5 มาปีสองปีนี้ ก็ “จำต้อง” ใส่หน้ากากอีก วันนี้มาดูกันว่าหน้ากากอนามัยที่เราใส่กันนั้น ใช้ถูกงานไหม ใช้ป้องกันได้ไหม และใช้กันเป็นไหม

           1.หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้ผลิตตามมาตรฐานใด ๆ เลย รวมถึงหน้ากากผ้าที่ตัดเย็บกันเอง
                      - พวกนี้เราจะใช้ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงน้อยนะ เช่นในบ้านเรา รอบ ๆ หมู่บ้านเรา ในที่สาธารณะที่โล่ง การระบายอากาศดี ไม่มีคนแออัด
                      - และควรใช้วันเดียวทิ้งหรือล้างทำความสะอาดเลย เพราะตัวหน้ากากเองไม่ได้กันการซึมซับของเหลวที่เราไอ จาม หรือจากการพูดแล้วน้ำลายกระเด็นออกมา (หรือจากที่คนอื่นไอ จาม) หากใช้ต่อ ก็จะกลายเป็นเราเอาสิ่งสกปรกมาครอบจมูกเรา แทนที่จะปลอดภัยก็กลับจะเป็นอันตรายได้
                      - บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยเช่นนี้
           2. หน้ากากอนามัยที่ผลิตและทดสอบตามมาตรฐาน ASTM มีหลายแบบ
                      1) Procedural masks
                                 - อันนี้เป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้กันในสถานพยาบาล และออกแบบมาให้ใช้วันเดียว (one-time use) ในบรรยากาศของสถานพยาบาล (medical environments) ซึ่งรวมถึงในคลินิกทันตกรรมด้วย
                                 - วิธีสังเกตง่าย ๆ คือผู้ผลิตจะทำห่วงคล้องหูมาให้ และด้านนอกจะทำเป็นสี เช่นมีสีฟ้าแบบที่เราเห็นกันทั่วไป (แต่ย้ำว่าต้องได้มาตรฐาน ASTM นะครับ) หน้ากากแบบนี้ใช้ป้องกันทั้งป้องกันตัวเรา และป้องกันจากคนอื่น
                      
2) Surgical masks
                                 
- ตามชื่อเลยครับ ออกแบบมาให้ใช้ในห้องผ่าตัด และเป็น one time use อีกด้วย การใช้งานเพื่อป้องกันผู้สวมใส่ให้ปลอดภัยจากของเหลว เลือด ฯลฯ ที่จะเกิดจากการผ่าตัดแล้วกระเด็นมาถูกผู้ทำการผ่าตัดและผู้ช่วยเหลือ
                                 
- วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าเป็น surgical masks คือผู้ผลิตจะทำสายรัดรอบศีรษะ เพื่อให้การสวมใส่กระชับ แนบสนิทกับใบหน้ามากกว่าพวก Procedural masks
                                 
- แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับผู้ผลิตที่ออกแบบด้วย เพราะในบาง ref. ก็ไม่ได้ระบุเช่นว่านี้

                                 @ หน้ากากแบบ 3 ชั้น (3-Ply Surgical Mask)
                                 
- นี้คือหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้ความมั่นใจในประสิทธิภาพการป้องกันตนเองได้มาก
                                 
- จากภาพจะเห็นการทำงานของแต่ละชั้น ดังนี้
                                            
> ชั้นนอกสุดของหน้ากาก จะป้องกันน้ำลาย เสมหะ สารคัดหลั่งต่าง ๆ จากผู้ป่วยหรือผู้รับการผ่าตัดฃ
                                            
> ชั้นกลาง จะทำหน้าที่ป้องกันเจ้าไวรัส แบคทีเรีย เชื้อโรคทั้งหลายให้หยุดอยู่ที่ชั้นกลางนี้
                                            
> ชั้นใน ก็จะป้องกันของเสียทั้งหลายจากการไอ จาม ของผู้สวมใส่ที่จะไม่ไปเป็นอันตรายกับคนรอบข้าง                      
                      
3) หน้ากาก N 95 Surgical masks
                                 
- ต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ของ NIOSH ก่อน แล้วต้องผ่านเกณฑ์ที่ FDA กำหนด (ตามที่เขียนข้างล่างนี้)
                                 
- หน้ากากแบบนี้ ใช้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสเชื้อโรคที่ออกมาฟุ้งกระจายในลักษณะเป็น airborne (ไม่ใช่ droplet)


           ข. ทั้งนี้ มาตราฐาน ASTM 2100 กำหนดการทดสอบไว้ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
                      1. Particulate filtration efficiency (PFE)
                                 - วัดประสิทธิภาพการกรองอนุภาค โดยใช้ตัวอนุภาคที่ทำการทดลองคือ 0.1 μm polystyrene latex particles ซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA guidance) ใช้ความเร็วในอัตราการไหลที่ 0.5-25 cm/s ตามที่แนะนำไว้ใน ASTM F2299
                      2. Bacterial filtration efficiency (BFE)
                                 - วัดการกรองแบคทีเรียด้วยตัวที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ป่วยในโรงพยาบาลมากสุด คือ Staphylococcus aureus (อันนี้กำหนดไว้ใน ASTM F2101)
                                 - กรณี surgical masks ต้องผ่านประสิทธิภาพการกรองอย่างน้อย 95% BFE
                      3. Fluid resistance
                                 - ทดสอบเรื่องนี้เพื่อดูว่าหน้ากากชั้นนอก จะเป็นตัวกั้นการซึมผ่านของของไหลไปสู่ชั้นในได้มากน้อยเพียงใด
                      4. Differential pressure
                                 - เป็นการทดสอบว่าหน้ากากอนามัยนั้น ๆ ทำให้ผู้สวมใส่อึดอัด หายใจลำบากมากน้อยเพียงใด
                                 - ค่า diff ที่น้อย แสดงถึงว่า หน้ากากอนามัยนั้น ใส่แล้วหายใจได้ดี คนใส่จะรู้สึกเย็นสบายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสวมใส่แบบที่หายใจลำบาก และนั่นหมายถึงความรู้สึกที่ Comfort จะทำให้ใส่ได้นาน ไม่ใส่ ๆ ถอด ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่แนะนำให้ทำ
                      5. Flammability
                                 - การทดสอบการติดไฟ ก็มีที่มาที่ไปว่า หน้ากากอนามัยมีการใช้วัสดุเส้นใยทั้งจากธรรมชาติและจากการสังเคราะห์ ซึ่งติดไฟได้
                                 - จึงต้องทำการทดสอบในเรื่องความเร็วและความเข้มของการลุกไหม้ของเปลวไฟ

           นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าเรื่องประสิทธิภาพการกรองไวรัสนั้น (Viral Filtration Efficiency, VFE) ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องประเมิน แต่ผู้ผลิตหลายรายก็ทำการทดสอบเรื่องนี้ด้วย รวมทั้งใน FDA 510(k) applications for certain N95 filtering facepiece respirators ก็กำหนดให้ประเมินประสิทธิภาพการกรองไวรัสไว้ด้วย

           สรุปคือการสวมใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโคโลนาสายพันธุ์ใหม่ -19 นี้ หากอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ จะใช้แบบที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้แบบผ้าก็ย่อมได้ แต่ควรใช้วันต่อวัน แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ควรใช้แบบได้มาตรฐานนะครับ

           สำหรับท่านใดสนใจมากกว่านี้ ค้นใน Google จะพบแหล่งเรียนรู้มากมาย และน่าอ่านกันทั้งนั้น

#Meet_OHSWA_President

Visitors: 366,488