สารเคมีในน้ำหอม “ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือ”

ผยแพร่เมื่อ: 07/07/2564...,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย (ธีรวิโรจน์) เทศกะทึก 
                
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย
                คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา...,

 

 

สารเคมีในน้ำหอม “ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือ”

กรณีศึกษา

          เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตน้ำหอมแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โซน 3 ถนนฉลองกรุง ช่วงเวลาประมาณ 18 น. ของวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ทำให้เกิดความเสียหาย โดยมีอาคารทรุดตัว เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 ราย จุดเกิดเหตุเป็นอาคาร 2 ชั้น ด้านข้างมีถังเก็บทินเนอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงผลิตน้ำหอมและแอลกอฮอล์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดกระบังอยู่ระหว่างดำเนินการดับเพลิง

 

หากพูดถึงน้ำหอม เคยมีการกล่าวว่า “น้ำหอมสามารถทำให้เราดูสวย หรือหล่อขึ้นได้จริง” โดยนักวิจัย เขาศึกษาและพบว่ากลิ่นหอมทำให้ใบหน้าผู้หญิง และผู้ชายดูมีเสน่ห์มากขึ้น หากมีกลิ่นที่พึงพอใจ ดึงดูดความสนใจ จะรับรู้ซึ่งกันและกันจนเกิดเป็นความรักได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีคนตั้งคำถามว่า น้ำหอม กลิ่นหอมหวาน ดึงดูดความสนใจขนาดนั้น คงไม่มีสารเคมีอันตรายผสมเลยใช่ไหม? ก่อนจะให้คำตอบ ขอท้าวความสักนิดว่า โดยปกติในกระบวนการผลิตน้ำหอม มักมีการใช้สารตัวทำละลายหลายชนิดด้วยกัน เช่นAcetone, benzaldehyde, benzyl acetate; benzyl alcohol, camphor, ethanol, ethyl acetate, limonene, linalool, methylene chloride เป็นต้น

            สารเคมีเหล่านี้มีประโยชน์มากมาย แต่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เดียวกัน โดยเฉพาะ กรณีเกิดสารรั่วไหล หรือ เกิดเพลิงไหม้ เพราะจะทำให้สารเคมีเหล่านี้กระจายออกมามาก จนเกิดพิษต่อผู้รับสัมผัสได้ โดยผ่านเข้าทางหายใจเป็นหลัก ทางผิวหนัง และเข้าทางปากได้ สามารถทำให้เกิดพิษต่อร่างกายหลากหลายแตกต่างกันไปตามชนิดสารเคมี โดยภาพรวมพิษของสารเคมีเหล่านี้ จะเกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ กล้ามเนื้อไม่ประสานกัน พูดไม่ชัด ง่วงซึม อาการระคายเคือง เช่น คอ ตา ผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร รวมถึงอาการและการเจ็บป่วยอื่น ๆ ทุกท่านสามารถอ่านได้ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละชนิดได้

            อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายถึงพิษของสารเคมีตัวหลักในน้ำหอมสัก 1 ชนิด คือ สารเมทิลีนคลอไรด์ (Methylene chloride) เป็นสารที่ระเหยได้สูงมาก เคยกรณีศึกษาในผู้ประกอบอาชีพ 2 ราย เป็นพิษจากสารเมทิลีนคลอไรด์ในงานสกัดสี  รายแรก พบหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต รายที่ 2 พบระดับคาบ็อกซีเฮโมโกลบิน 2-8 % ไม่มีอาการหัวใจผิดปกติ แต่ มีอาการง่วง กลไกการเกิดพิษ

            ผู้ประกอบอาชีพที่รับสัมผัสสารเมทิลีนคลอไรด์ผ่านทางการหายใจ สารจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ขึ้นอยู่ตามลักษณะงาน เช่น งานที่หนัก อัตราการหายใจจะเพิ่มขึ้น การรับสัมผัสสารเมทิลีนคลอไรด์  250 ส่วนในล้านส่วนใน 8 ชั่วโมงในการทำงาน จะเพิ่มระดับสารคาบ็อกซี่ฮีโมโกลบินมากกว่า 8 % ส่วนการดูดซึมทางผิวหนัง ขึ้นอยู่กับลักษณะของผิวหนัง และระยะเวลาในการรับสัมผัส

ท่านอาจสงสัยว่าคาร์บอนมอนอกไซด์มาเกี่ยวข้องอย่างไร นั่นคือ สารเมทิลีนคลอไรด์ที่ดูดซึมเข้าสู่ปอดรวดเร็ว จะถูกออกซิไดซ์เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide, CO) ก๊าซนี้จะจับกับเฮโมโกลบินจนกลายเป็นคาบ็อกซีฮีโมโกลบิน (Carboxy hemoglobin, COHb)  สามารถวัด CO ได้ภายหลังรับสัมผัสเข้าสู่ร่างกาย 6 ชั่วโมง ค่าครึ่งชีวิตของ COHb ภายในร่างกายจากการรับสัมผัสเมทิลีนคลอไรด์นาน 13 ชั่วโมง สะสมในไขมันได้ดี การรับสัมผัสสารเมทิลีนคลอไรด์เข้าสู่ร่างกายทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ขออธิบายโดยสรุปดังนี้

            แบบเฉียบพลัน การรับสัมผัสสารทางผิวหนัง ทำให้ผิวหนังไหม้ แดง เป็นสะเก็ด อักเสบได้ พิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการรุนแรงตามความเข้มข้นที่ได้รับเข้าไป เช่น ปวดศีรษะ (500 -1000 ppm)  วิงเวียน (2300 ppm) คลื่นไส้ อาเจียน (2300 -5000 ppm) เคลิบเคลิ้ม  ชาแขนขา (7200 ppm) เคลื่อนไหวลำบาก  รบกวนการมองเห็น ที่ความเข้มข้นสูงขึ้น อาจมีอาการเซื่องซึม  หมดสติ (8,000-20,000 ppm) และเสียชีวิต (>50,000 ppm) เคยพบอาการเป็นพิษระบบประสาทส่วนกลางในช่างทำตู้ ในประเทศสหรัฐอเมริกาจากพิษของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มีผลกระทบต่อหัวใจ  หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจขาดเลือด ผลต่อปอด ทำให้เกิดปอดบวม ผลต่อตับ มีผลการศึกษาในตับว่ามีพิษเล็กน้อยต่อตับในสัตว์ทดลอง แต่ยังขาดหลักฐานที่จะเชื่อมโยงเพื่อสรุปสาเหตุการเกิดพิษในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพได้

            แบบเรื้อรัง การรับสัมผัสสารเป็นเวลานาน มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง มักมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ความจำเสื่อม มีผลต่อตับ ไต การรับสัมผัสสารเมทิลีนคลอไรด์เป็นเวลานาน ทำให้ท่อไตถูกทำลาย เกิดไตวายตามมาได้ ส่วนการเกิดมะเร็ง สารเมทิลีนคลอไรด์เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 2A หรือ น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Probably carcinogenic to humans) (IARC, 2016) เคยมีการรายงานว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดเนื้องอกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ เกิดมะเร็งที่ตับ และปอดในสัตว์ทดลองหลายชนิด ส่วนหลักฐานในมนุษย์จาก The US Environmental Protection Agency (EPA) ระบุว่าเป็นสารน่าจะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ แต่ไม่พบว่ามีพิษต่อสารพันธุกรรมในหลอดทดลอง

            การดำเนินงานทางด้านอาชีวอนามัย โดยการดูแลสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมเช่น จัดสถานที่ทำงานให้มีระบบการระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพการใช้สารที่มีพิษน้อยกว่าทดแทน เช่น สาร 1,3-pentadiene, Cyclopentene, Isoprene, 2-methyl-2-butene และ 1,5-hexadiene  เป็นต้น รวมทั้งการตรวจสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เพื่อควบคุมความเข้มข้นสารเมทิลีนคลอไรด์ไม่ให้สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยในบรรยากาศการทำงาน ตามค่าขีดจํากัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย เท่ากับ 100 ส่วนในล้านส่วน (ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 2560)

            การดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ควรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพ เกี่ยวกับอันตรายของสารเมทิลีนคลอไรด์ต่อสุขภาพ และแนะนำให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลขณะปฏิบัติงานกับสารเมทิลีนคลอไรด์  ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี เช่น การล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ การไม่สูบบุหรี่ในบริเวณที่ทำงาน เป็นต้น แพทย์มักติดตามทางชีวภาพ เช่น ตรวจเลือด เพื่อตรวจดูจำนวน และ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC, Complete Blood Count) ดูการทำหน้าที่ของตับ เช่น ระดับแอมิโนทรานสเฟอเรส ดูการทำหน้าที่ของไต เช่น ไมโอกลอบูลิน การประเมินระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือด โดยประเมิน คาบ็อกซีฮีโมโกลบิน (Blood carboxyhemoglobin) แต่บางรายมีอาการรุนแรง อาจไม่พบระดับสูงผิดปกติก็ได้

            การปฐมพยาบาล  หากมีการหายใจเอาสารเข้าไป ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงไปอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ หากหยุดหายใจให้ช่วยผายปอด รีบนำส่งโรงพยาบาล หายใจลำบากให้ออกซิเจน หากรับสารทางปาก ให้ล้างทำความสะอาดปาก ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน ควร

ให้ดื่มน้ำเพื่อชะลอการดูดซึม แล้วรีบนำส่งแพทย์ การรับสัมผัสทางผิวหนัง ควรถอดเสื้อผ้าที่เปียกสารเคมีออกให้เร็วที่สุด ภายหลังการรับสัมผัสที่ผิวหนัง ควรชำระล้างด้วยน้ำปริมาณมากและล้างที่ผิวหนังออกด้วยน้ำและสบู่ ส่วนทางตา ให้ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำปริมาณมากนาน 15 นาทีและรีบนำส่งโรงพยาบาล

            สรุป สารเมทิลีน คลอไรด์นำมาใช้เป็นสารตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่างๆอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการผลิตน้ำหอม ดูดซึมเข้าสู่ปอดได้อย่างรวดเร็ว และถูกออกซิไดซ์เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ก๊าซจับกับฮีโมโกลบินจนเป็นคาบ็อกซีฮีโมโกลบิน ผลกระทบต่อร่างกายได้ ดังนั้น ควรดูแลสิ่งแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อสุขภาพตลอดไป

เอกสารอ้างอิง อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก. (2560). พิษสารเคมีรู้ทันป้องกันได้ ปรับปรุงครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. กรุงเทพฯ

 

 

Visitors: 367,468