Safety Engineer for Jor Por Series, EP.1 Lockout Tagout

เผยแพร่เมื่อ: 22/05/2563....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์, Know how & How to in HSE Management Series...,
– กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) / รองประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องจักรกล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์

 

ทำไมการใช้ระบบ Lockout Tagout จึงมีความสำคัญในงานอุตสาหกรรม ?"

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในสหรัฐอเมริกา รวบรวมโดย OSHA หรือ Occupational Safety and Health Administration ที่มีชื่อเสียงในด้านการรวบรวมสถิติการละเมิดกฎความปลอดภัยจนทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน จะพบว่า Lockout Tagout จะติดอยู่ในห้าอันดับแรกของสถิติการละเมิดกฎความปลอดภัย (Top 10 OSHA Violation) ในทุกๆ ปี โดยมีข้อมูลอุบัติเหตุมากกว่า 2,000 – 3,000 กรณีในแต่ละปี

 สถิติการละเมิดกฎความปลอดภัย (Top 10 OSHA Violation) ที่เกี่ยวเนื่องกับ Lockout Tagout 

  • 2562 (2019) – Lockout Tagout อันดับที่ 5 (2,415 กรณี)
  • 2561 (2018) – Lockout Tagout อันดับที่ 5 (2,384 กรณี)
  • 2560 (2017) – Lockout Tagout อันดับที่ 5 (2,877 กรณี)
  • 2559 (2016) – Lockout Tagout อันดับที่ 4 (3,414 กรณี)
  • 2558 (2015) – Lockout Tagout อันดับที่ 5 (3,002 กรณี)

 

มื่อดูสถิติย้อนหลัง 5 ปีตามข้อมูลข้างต้น จะพบว่ามีการละเมิดการปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา 29 CFR 1910.147 Control of hazardous energy (lockout/tagout) ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่ใช้บังคับในด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในเรื่อง lockout/tagout โดยเฉพาะ และจากตามข่าวการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยในหลายกรณี มักพบว่า เกิดความผิดพลาดในการเดินเครื่องจักร หรือปล่อยพลังงาน สารอันตรายเข้าสู่พื้นที่การทำงานของผู้ปฏิบัติงานโดยไม่ตั้งใจ เป็นเหตุให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง

 

 หลักความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในงานวิศวกรรม

      ในการปฏิบัติงานกับเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือแหล่งจ่ายพลังงานที่หยุดการทํางานนั้น ส่วนใหญ่มักมีความจำเป็นต้องเปิดการ์ดป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร หรือมีอวัยวะบางส่วนไปสัมผัสกับจุดอันตรายต่างๆ จึงจําเป็นยิ่งที่ต้องมีความมั่นใจว่าเครื่องจักร อุปกรณ์หรือแหล่งจ่ายพลังงานเหล่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาทํางานได้ โดยไม่ได้ตั้งใจหรือมีพลังงานสะสมค้างอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมั่นใจในความปลอดภัย ว่าในขณะที่ทำงานนั้น จะไม่มีผู้ใดสามารถทำให้  ‘เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือแหล่งจ่ายพลังงานที่กำลังทำการปฏิบัติงานหรือทำงานซ่อมบำรุง’ จะกลับมาทำงานได้

 

 

 การควบคุมอันตรายโดยการตัดแยกพลังงาน (Hazardous Control by Energy-Isolation)

อันตรายที่อาจเกิดจากการทำงาน ขณะซ่อมบำรุง หรือทำความสะอาดกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีแหล่งจ่ายพลังงานต่าง ๆ นั้น จะพบว่าพลังงานเหล่านี้ มีโอกาสที่ทำให้เครื่องจักร กลไกต่าง ๆ สามารถทำงานขึ้นมาได้ โดยที่ผู้ปฏิบัติงานอาจไม่คาดคิด หรือมีโอกาสที่จะปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่หรือตกค้างอยู่ออกมาทำอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานจนได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

ระบบที่ได้รับการยอมรับและมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือ ระบบล็อกและติดป้ายเตือน หรือที่เรียกว่า ระบบ Lockout Tagout โดยแยกเป็น

  • ระบบล็อก (Lockout System) เป็นระบบที่ใช้ในการตัดแยกอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งจ่ายพลังงาน โดยอาจใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการล็อก โดยไปล็อกที่แหล่งจ่ายพลังงาน รวมทั้งปลดปล่อยพลังงานสะสมค้างอยู่ที่อาจเป็นอันตรายได้
  • ระบบป้ายเตือน (Tagout System) คือการควบคุมอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายแสดงข้อความเตือนอันตราย หลังจากทำการล็อกที่แหล่งกำเนิดพลังงานก็จะต้องทำการแขวนป้ายเตือนไว้ที่อุปกรณ์นั้นตลอดเวลา ป้ายเตือนจะแสดงรายละเอียดของข้อความเตือนตามแต่ละจุดประสงค์ของงาน ลักษณะงานชนิดไหน ใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยป้ายเตือนจะถูกแขวนไว้กับกุญแจล็อกเสมอ จนงานเสร็จจึงสามารถปลดป้ายออกได้


 

 พลังงานอันตรายประเภทต่าง ๆ

เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ มักมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าในการทำงานการปิดเบรกเกอร์หรือสวิตช์ไฟฟ้า จะปลอดภัยเพียงพอ เพราะเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ล้วนแต่อาจมีพลังงานอันตรายอื่น ๆ ได้อีกหลายชนิด เช่น 

  • พลังงานไฟฟ้า (Electrical Energy)
  • พลังงานกล (Mechanical Energy)
    - พลังงานศักย์ (Potential Energy)
    - พลังงานจลน์ (Kinetic Energy)
  • พลังงานจากการเผาไหม้/แรงระเบิด (Flammable/Explosive Energy)
  • พลังงานเคมี (Chemical Energy)
  • พลังงานความร้อน (Thermal Energy)
  • พลังงานไฮโดรลิก (Hydraulic Energy)
  • พลังงานนิวเมติก (Pneumatic Energy)
  • พลังงานไอน้ำ (Steam Energy)
  • พลังงานอื่น ๆ 

 

 ขั้นตอนการจัดทำ Lockout Tagout แบบทั่วไป (General Lockout Tagout Procedure)

       1.เตรียมการปิดระบบ (Preparation)
       2.ปิดเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ (Shutdown Machine)
       3.การตัดแยกพลังงาน (Energy Isolation)
       4.อุปกรณ์ระบบล็อกหรือระบบป้ายเตือน (Lockout Tagout Devices)
       5.การปล่อย/ควบคุมพลังงานสะสม (Release Stored Energy)
       6.การตรวจสอบ (Machine Testing)

 

 

  

 ผลที่ได้จากการทำระบบ Lockout Tagout

       นอกจากช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานด้านการซ่อมบำรุง การบำรุงรักษาทั่วไปแล้ว ยังช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดโดยไม่คลาดคิดจากพลังงานอันตรายต่าง ๆ ได้มากกว่า 95% เลยทีเดียว ซึ่งจะช่วยเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

References:

Visitors: 417,593