งานขุดดิน : อันตรายในงานขุดดินและแนวทางการปฏิบัติเมื่อทำงานในหลุม บ่อ หรือคูน้ำ!

เผยแพร่เมื่อ: 22/08/2563....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์
กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
รองประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องจักรกล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)

งานขุดดิน: อันตรายในงานขุดดินและแนวทางการปฏิบัติ

เมื่อทำงานในหลุม บ่อ หรือคูน้ำ!

     สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากงานขุดดิน
          ในช่วงหน้าฝน เรามักจะพบเหตุร้ายแรงจากดินถล่มจากงานขุดดินอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในการทำงานก่อสร้าง ซึ่งการทำงานขุดดินนั้น จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในงานที่มีความเสี่ยงจากดินถล่มหรือการพังทลายของดินสูงมาก จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานขุดดิน ในช่วง 10 ปี (1990-2000) รวบรวมโดย OSHA หรือ สำนักบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ภายใต้กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เสียชีวิตเกือบครึ่ง (48%) มาจาก ‘ดินถล่มหรือการพังทลายของดิน (Cave-in)’!

ภาพประกอบ: สาเหตุการเสียชีวิตแยกตามลักษณะของอุบัติเหตุ(Distribution of Fatalities by Cause of Death, 1990-2000)

     ข้อเท็จจริงในการทำงานขุดดิน

  • การทำงานขุดดินหรือคูน้ำจัดเป็นหนึ่งในงานที่มีอันตรายสูงมาก
  • ผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 400 คนเสียชีวิตจากทำงานขุดดินหรือคูน้ำในสหรัฐอเมริกา
  • ผู้ปฏิบัติงานหลายพันคนบาดเจ็บสาหัส
  • งานขุดดินหรือคูน้ำส่วนใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิตลึกเพียง 1.5 ถึง 4.5 เมตร
  • ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ไม่เคยฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานขุดดิน

ภาพประกอบ: ภาพแสดงเหตุการณ์ดินถล่มทับคนงาน ขณะทำงานวางท่อระบายน้ำในคูลึก 3 ม. กว้าง 1 ม.

     ความรุนแรงของอุบัติเหตุจากงานขุดดิน
          ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่แทบไม่ได้สนใจเรื่องน้ำหนักของดิน ซึ่งดินหนึ่งคิวหรือหนึ่งลูกบาศก์เมตรอาจมีน้ำหนักระหว่าง 1.1 ถึง 1.6 ตันเลยทีเดียว ร่างกายคนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับกับน้ำหนักที่มากขนาดนี้ ซึ่งอาจมีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากน้ำหนักของดินได้ โดยมีผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น

  • การหายใจไม่ออก
  • การถูกทับ
  • การจมน้ำ
  • การสูญเสียการไหลเวียนของเลือด และ
  • วัสดุบนขอบหลุม บ่อ คูน้ำ กลิ้งหรือตกลงไปในงานขุดดินหรือคูน้ำ

ภาพประกอบ: การเสียชีวิตของคนงานจากดินถล่มในการทำงานในคูน้ำ (Worker, killed in a trench collapse, 2002 (NYT))

     กลไกการพังทลายของดิน

  • รอยแตกเกิดจากแรงดึงและเฉือนของผิวดิน
  • รอยแตกมักเกิดที่ระยะ 1/3 ถึง 2/3 จากขอบผนังดิ่ง
  • รอยแตกจะทำให้ดินเสียความแข็งแรง
  • น้ำหนักของดินด้านบนจะถ่ายเทลงผนังดินที่ขุดด้านล่างเสมอ
  • ผนังดินที่ขุดจะเป็นจุดแรกที่พังทลาย
  • ผนังด้านบนส่วนใหญ่จะถล่มลงในหลุมขุด
  • ดินรับแรงกดได้ดี แต่รับแรงดึงได้น้อย

ภาพประกอบ: ลักษณะการแตกของผิวดินก่อนเกิดเหตุดินถล่ม

     ลักษณะทางกายภาพและหลักฟิสิกส์ของดิน
          ดินถล่มเป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ ทางฟิสิกส์ ก่อนการขุดดิน แรงดันในดินที่เกิดขึ้นจะมีความสมดุลในทุกทิศทาง เมื่อเริ่มงานขุดดิน จะเกิดโพรงหรือช่องว่างขนาดใหญ่ในดิน ดินจะพยายามปรับสมดุลด้วยตัวเอง
          ผลที่ตามมาคือ หลุม บ่อ คูน้ำที่ขุดจะเกิดดินถล่มตามมา ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีการป้องกันอันตรายที่เพียงพอจะถูกทับ มักเชื่อกันว่าถ้าถูกทับทั้งตัวจนมิดหัวถึงจะเสียชีวิต แต่ความจริงคือผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากเสียชีวิตทั้งที่ถูกฝังหรือถูกดินทับเพียงบางส่วน!!!

ภาพประกอบ: ขั้นตอนการเกิดดินถล่ม

     แนวทางปฏิบัติเมื่อทำงานในหลุม บ่อ คูน้ำ
          OSHA ให้คำแนะนำ แนวทางปฏิบัติ 5 ประการหลักที่ควรทำเพื่อความปลอดภัย เมื่อทำงานในหลุม บ่อ คูน้ำ ดังนี้
               - แน่ใจว่ามีทางเข้าและออกที่ปลอดภัย
               
- หลุม บ่อ คูน้ำ ต้องมีการป้องกันดินพังทลาย
               
- กองวัสดุต้องนำออกนอกขอบหลุม บ่อ คูน้ำ
               
- สังเกตอันตรายจากน้ำและสภาพบรรยากาศ
               
- อย่าเข้า หลุม บ่อ คูน้ำ จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบ

ภาพประกอบ: แนวทางการปฏิบัติเมื่อทำงานในหลุม บ่อ คูน้ำ

          แนวทางการทำงานและการป้องกันที่ได้มาตรฐาน การให้ข้อแนะนำและคำเตือน รวมทั้งการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานก่อนทำงาน จะช่วยให้ลดความสูญเสียจากการทำงานขุดดินหรือคูน้ำและเกิดความปลอดภัยในการทำงานได้

 

References:

 

Visitors: 367,266