สี่อันตรายร้ายแรงในงานก่อสร้าง (OSHA’s Fatal Four on Construction Sites)

เผยแพร่เมื่อ: 22/09/2563....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์
กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
รองประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องจักรกล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)

สี่อันตรายร้ายแรงในงานก่อสร้าง

(OSHA’s Fatal Four on Construction Sites)

          อะไรคือ “สี่อันตรายร้ายแรง” ในงานก่อสร้าง ?
          จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาในรอบหลายปีที่ผ่านมา รวบรวมโดยองค์กรบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (Occupational Safety and Health Administration : OSHA) พบว่ามีรายงานการเสียชีวิตราวหนึ่งในห้าหรือเกือบ 20% มาจากงานก่อสร้าง!  ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดพบว่าราว 57% ของอุบัติเหตุร้ายแรงในงานก่อสร้างมาจากความเสี่ยงหลักๆ อยู่ 4 ประการที่ทาง OSHA เรียกว่า “Fatal Four” (สี่อันตรายร้ายแรง) ได้แก่

  • 36% มาจากการตกจากที่สูง (Falls)
  • 10% มาจากการชนทับ กระแทกด้วยวัสดุ (Struck-by Object)
  • 9% มาจากไฟฟ้า (Electrocutions)
  • 2% มาจากการติดด้านในหรือระหว่างเครื่องจักรกลหรือวัสดุ (Caught-In/Between)

          ดังนั้น การมุ่งเน้นกำจัดความเสี่ยงจากอันตรายร้ายแรงทั้งสี่ประการเหล่านี้จะช่วยให้อุบัติเหตุร้ายแรงในงานก่อสร้างลดลงและสามารถลดความสูญเสียได้มากกว่า 50% หรือครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นทีเดียว

ภาพที่ 1 : สถิติการเกิด ‘สี่อันตรายร้ายแรง’ ในงานก่อสร้าง

           งานก่อสร้างประเภทใดที่มักมีอันตรายสูง ?
           
ในการทำงานก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มีหลากหลายประเภทและลักษณะการทำงาน รวมทั้งมีอันตรายที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทของอาคารและลักษณะการทำงาน แต่จากรวมรวมข้อมูลสถิติพบว่ากิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตในแต่ละประเภทและลักษณะงาน ได้ดังนี้

  • 48% มาจากงานก่อสร้างเฉพาะทาง เช่น ฐานราก โครงสร้าง คอนกรีต
  • 17% มาจากงานวิศวกรรมโยธาและเครื่องจักรกลหนัก เช่น งานสะพาน ถนน สาธารณูปโภค รางระบายน้ำ
  • 16% มาจากงานก่อสร้างอาคาร บ้าน งานปรับปรุงอาคาร
  • 12% มาจากงานระบบไฟฟ้า ประปา ปรับอากาศและระบายอากาศ
  • 7% มาจากงานตกแต่งอาคาร เช่น ผนังตกแต่งอาคาร สี พื้น

ภาพที่ 2: ยอดผู้เสียชีวิตในงานก่อสร้าง และ อัตราการเสียชีวิตแยกตามประเภทการก่อสร้าง

           แนวทางการลดความเสี่ยงจาก“สี่อันตรายร้ายแรง” ในงานก่อสร้าง
                      + 
การลดอันตรายจากการตกจากที่สูง (Falls) 
                         
การตกจากที่สูง (Falls)จัดเป็นอันตรายร้ายแรงลำดับหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติงานเสียชีวิตได้ง่าย OSHA กำหนดให้มีระบบป้องกันการตกเมื่อมีการทำงานบนที่สูงตั้งแต่ 1.8 เมตร (6 ฟุต) ในงานก่อสร้างและเมื่อทำงานเหนือเครื่องจักรที่อันตรายร้ายแรง โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสูง
                      
ในการป้องกันการตก ให้แน่ใจว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะต้องทำดังนี้เสมอ
                                 
o   สวมใส่และใช้อุปกรณ์ยับยั้งการตกจากที่สูงเช่น เข็มขัดนิรภัยชนิดเต็มตัว
                                 
o   ติดตั้งและตรวจสอบขอบเขตแนวป้องกันพื้นที่เสี่ยงต่อการตกจากที่สูง
                                 
o   ปิดช่องเปิดที่พื้นและทำเครื่องหมายแสดงให้เห็นได้ชัดเจน
                                 
o   ใช้บันไดและนั่งร้านอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ภาพที่ 3 : Fatal Four : #1 Falls

          การลดการบาดเจ็บจากการชนทับ กระแทกด้วยวัสดุ (Struck-by Object)
                    
การชนหรือโดนทับระหว่างผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรอบๆ พื้นที่ทำงานกับเครื่องจักร วัสดุ เศษชิ้นส่วน หรือเศษวัสดุ เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งจาก การหมุน การตกลง การหมุนกลิ้ง การปลิวหรือกระเด็นซึ่งแนวทางการป้องกันที่ได้ผล มีหลายแนวปฏิบัติ เช่น การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) ที่เหมาะสม, การตื่นตัวอยู่เสมอเมื่อใช้งานเครื่องจักรกล และการไม่ทำงานใต้พื้นที่ที่มีการยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุนอกจากนั้น ผู้ปฏิบัติงานยังควรปฏิบัติตามแนวทางดังนี้
                              
o   ตรวจสอบเครื่องจักรกลที่ขับเคลื่อนได้ก่อนเริ่มงานให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
                              
o   ไม่ขับเคลื่อนเครื่องจักรกลถอยหลัง เมื่อมีวัสดุกีดขวางการมองเห็น เว้นแต่เครื่องจักรกลจะมีสัญญาณเตือนขณะถอยและมีผู้ให้สัญญาณว่าปลอดภัย
                              
o   ยึดเกาะวัสดุให้มั่นคงก่อนทำการยกเคลื่อนย้ายเสมอ
                              
o   ให้แน่ใจเสมอว่าอุปกรณ์และเครื่องมือที่ต่อพ่วงกับเครื่องจักรได้ยึดติดไว้อย่างแน่นหนา

ภาพที่ 4:  Fatal Four : #2 Struck by Objects

          การลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากไฟฟ้า (Electrocutions)
                    
ช่างไฟฟ้ามักมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากไฟฟ้า เนื่องจากต้องทำงานใกล้สายไฟฟ้าที่ยังคงมีกระแสไฟฟ้าไหลขั้นตอนสำคัญที่ต้องปฏิบัติคือการตัดกระแสไฟฟ้าและทำการล็อกและติดป้ายเตือน  ในส่วนช่างทั่วไปที่ไม่ใช่ช่างไฟฟ้ามักมีโอกาสสูงที่จะสัมผัสสายไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้า รวมทั้งส่วนใหญ่ขาดความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า  ดังนั้นในการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติดังนี้
                              
o   บ่งชี้ตำแหน่งของพลังงานไฟฟ้าก่อนเริ่มปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับไฟฟ้า
                              
o   มองหาสายไฟฟ้าด้านบนพื้นที่ทำงานในขณะใช้งานเครื่องจักรกล
                              
o   รักษาระยะห่างที่เหมาะสมจากสายไฟฟ้าเสมอ
                              
o   ในการใช้เครื่องมือกลที่ใช้ไฟฟ้าต้องมีการต่อลงดินหรือใช้ชนิดมีฉนวน 2 ชั้น
                              
o   ใช้เครื่องตัดไฟรั่วกับเครื่องจักรกลและเครื่องมือกลเพื่อป้องกัน
                              
o   ตรวจสอบสภาพเครื่องมือกลและสายไฟฟ้า เมื่อมีการใช้งานบันไดหรือนั่งร้าน

ภาพที่ 5:  Fatal Four : #3Electrocutions

          การป้องกันอุบัติเหตุจากการติดด้านในหรือระหว่างเครื่องจักรกลหรือวัสดุ(Caught-In/Between)
                    
อุบัติเหตุจากการติดด้านในหรือระหว่างเครื่องจักรกลหรือวัสดุ จะครอบคลุมถึงการถูกทับ ติดในเครื่องจักรกลหรือระหว่างการบด อัด เคลื่อนย้ายวัสดุ รวมถึงวัสดุที่มีการเคลื่อนที่ด้วยดินถล่มในหลุม บ่อ คู ร่องระบายน้ำ ซึ่งถูกขุดหรือนำออกโดยเครื่องจักรกลนอกจากนี้ยังอาจมีอันตรายจากชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ของเครื่องจักรเหล่านี้ ซึ่งอาจหนีบ ดึง เสื้อผ้าหรืออวัยวะของผู้ปฏิบัติงาน ทำให้พื้นที่ปฏิบัติงานดังกล่าวจัดว่ามีความเสี่ยงสูง หากไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอเพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ จำเป็นยิ่งที่ผู้ดูแลด้านความปลอดภัยจะต้องแน่ใจว่า
                              
o   ใช้งานเครื่องจักรกลที่ติดตั้งเครื่องป้องกันอันตราย (Machine Safeguard) เสมอ
                              
o   ให้แน่ใจว่าเครื่องจักรกลตั้งบนพื้นที่ทำงานที่มั่นคงเพียงพอ
                              
o   ไม่เข้าพื้นที่หลุม บ่อ คู ร่องระบายน้ำ ที่ไม่มีระบบการป้องกันดินถล่มที่แข็งแรงเพียงพอโดยทั่วไป พื้นที่ที่ลึกตั้งแต่ 1.5 เมตรจะต้องมีระบบป้องกันดินถล่มตามมาตรฐาน
                              
o   การป้องกันดินถล่มในงานขุด อาจใช้แนวทางที่ OSHA แนะนำ คือ การทำผนังลาดเอียง, การใช้ค้ำยันผนัง หรือ การทำกำแพงกันดิน

ภาพที่ 6:  Fatal Four : #4Caught-in/Between

           ความปลอดภัยเริ่มต้นที่ใคร ?
                      
การส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานและการลดความเสี่ยงจาก “สี่อันตรายร้ายแรง” ในงานก่อสร้าง  องค์กรจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจน ต่อเนื่อง และที่สำคัญอย่างยิ่ง ผู้บริหารสูงสุดต้องให้คำมั่นสัญญา และผู้บริหารระดับสูงต้องปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้แผนกลยุทธด้านความปลอดภัยในองค์กรบรรลุตามเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

 

References:

 

 

Visitors: 365,744