อุบัติเหตุจากปั้นจั่นในงานก่อสร้าง(Crane Accidents in Construction Site)

เผยแพร่เมื่อ: 22/02/2564....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ 

กรรมการ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน  (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ (SHAWPAT)
กรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล/วิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)

เรื่อง อุบัติเหตุจากปั้นจั่นในงานก่อสร้าง

(Crane Accidents in Construction Site) 

          สถิติอุบัติเหตุจากปั้นจั่นทั่วโลก
                    จากผลการศึกษาโดยรวบรวมอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นจากทั่วโลกที่ได้นำเสนอในที่ประชุมว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของยุโรปEuropean Safety and Reliability Conference (ESREL) ในปี 2016 ที่เมือง Glasgow Scotland พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนอุบัติเหตุจากปั้นจั่น โดยมีรายละเอียดแยกตามประเภทของปั้นจั่นเรียงลำดับได้ดังนี้
                              
ลำดับที่ 1 : อุบัติเหตุจากรถปั้นจั่นหรือรถเครนสูงถึง 71.82%
                              
ลำดับที่ 2: อุบัติเหตุจากปั้นจั่นหอสูง ตามมาที่ 21.88%
                              
ลำดับที่ 3: อุบัติเหตุจากลิฟต์ก่อสร้างอยู่ที่ 2.99%
                              
ลำดับที่ 4 : อุบัติเหตุจากเรือปั้นจั่น อยู่ที่ 2.45%
                              
ลำดับที่ 5: อุบัติเหตุจากปั้นจั่นเหนือศีรษะ อยู่ที่ 0.85%
                    
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า อุบัติเหตุมากกว่า 90% มาจากรถปั้นจั่นและปั้นจั่นหอสูง ซึ่งปั้นจั่นทั้ง 2 ประเภทนี้นิยมใช้กันมากในงานก่อสร้างต่างๆ นั่นเอง!

          สาเหตุของอุบัติเหตุจากรถปั้นจั่น
                    รถปั้นจั่นเป็นหนึ่งในปั้นจั่นที่นิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานก่อสร้าง เนื่องจากสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกทั้งพิกัดการยกที่สูง และเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย โดยพบว่าในส่วนอุบัติเหตุจากรถปั้นจั่น จะเกิดจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้
                              
ลำดับที่ 1 : อุบัติเหตุเกือบครึ่ง (ราว 45%)มาจากกรณีรถปั้นจั่นพลิกคว่ำ ซึ่งมักเป็นอุบัติเหตุที่ได้พบเห็นบ่อยครั้ง เนื่องมาจากรถปั้นจั่นมักจะถูกใช้งานยกวัสดุที่มีน้ำหนักมากๆ และอยู่ห่างไกลหรือสูงจากตัวรถทำให้รถปั้นจั่นเสียเสถียรภาพได้อย่างง่ายดาย การยกในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น มีลมแรง มีลมกระโชก นอกจากนั้นสภาพพื้นดินและการตั้งขายันพื้น ก็จัดเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ในการทำการยกที่ปลอดภัย
                              
ลำดับที่ 2: รถปั้นจั่นถล่ม(9%)เป็นอีกหนึ่งกรณีที่พบบ่อย อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การยกเกินพิกัด สภาพโครงสร้างที่เก่า ชำรุด การติดตั้งปั้นจั่นที่ไม่ถูกต้อง
                              
ลำดับที่ 3: ไฟฟ้าดูดลงรถปั้นจั่น(8%)เนื่องจากรถปั้นจั่นมักได้รับมอบภารกิจให้ยกวัสดุในตำแหน่งใกล้สายไฟแรงสูง ทำให้บ่อยครั้งพบว่า มีโอกาสสูงยิ่งที่จะเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมักจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสียชีวิตได้โดยง่าย
                              
ลำดับที่ 4: วัสดุตกหล่นทับ (8%)ในการใช้งานรถปั้นจั่น มีโอกาสสูงมากที่วัสดุจะตกหล่นในขณะยก ดังนั้นการยึดเกาะวัสดุที่ถูกต้อง นับว่าสำคัญมาก รวมทั้งกฎข้อสำคัญที่ห้ามยกวัสดุข้ามศีรษะผู้ปฏิบัติงานอื่นในบริเวณที่ทำการยกโดยเด็ดขาด
                    
นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น แขนปั้นจั่นโก่ง แขนต่อหัก การยกปล่อยวัสดุที่มีน้ำหนักมากๆ ด้วยปั้นจั่น ไฟไหม้/ระเบิด การชนของรถปั้นจั่นขณะเคลื่อนที่ เป็นต้น

          สาเหตุของอุบัติเหตุจากปั้นจั่นหอสูง
                    ปั้นจั่นหอสูงเป็นเครื่องจักรที่ใช้ยกเคลื่อนย้ายวัสดุที่ช่วยให้งานก่อสร้างทำงานอย่างสะดวก ในขณะเดียวกันปั้นจั่นหอสูงสามารถยกเคลื่อนย้ายวัสดุไปทั่วพื้นที่ในไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุมักส่งผลกระทบต่อภาพรวมของงานก่อสร้างค่อนข้างมากทีเดียว อุบัติเหตุหลักที่พบจากปั้นจั่นชนิดนี้ มักมาจาก
                              
ลำดับที่ 1 : อุบัติเหตุที่พบมากที่สุดคือ ปั้นจั่นถล่ม (38%)โดยพบว่ามักมาจากการไม่ทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต โดยเฉพาะในช่วงที่การติดตั้ง เพิ่ม-ลดความสูงของปั้นจั่น จะพบได้มากทีเดียว
                              
ลำดับที่ 2: ปั้นจั่นพลิกคว่ำ (16%) อาจเกิดได้จากฐานรับปั้นจั่นที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ การยกวัสดุเกินพิกัด สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ยกในขณะลมพัดแรง หรือขณะมีฝนตก เป็นต้น
                              
ลำดับที่ 3: วัสดุตกหล่นทับ (15%)มาจากหลายสาเหตุ อาทิ สภาพลวดสลิงที่ชำรุด แตก การผูกมัด ยึดเกาะวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน สภาพสลิงที่เก่า ชำรุด เป็นต้น
                              
ลำดับที่ 4: แขนปั้นจั่นโก่งงอแขนต่อหัก (12%)ซึ่งอาจมาจากการยกเกินพิกัดน้ำหนัก สภาพแขนปั้นจั่นมีเก่า มีสนิม การติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
                    นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายๆ สาเหตุ เช่น แขนปั้นจั่นหรือลวดสลิงเข้าใกล้หรือสัมผัสสายไฟฟ้าแรงสูง การชนกันของแขนปั้นจั่นในขณะสวิงทำงาน เป็นต้น

หลักทั่วไปในการป้องกันอุบัติเหตุจากปั้นจั่น

  • ต้องมีการตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์และส่วนประกอบของปั้นจั่นก่อนใช้งานประจำวัน
  • ผู้ยึดเกาะวัสดุต้องทำการตรวจสอบสภาพสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกทุกครั้งก่อนทำการยึดเกาะและยกเคลื่อนย้ายวัสดุ สลิงและอุปกรณ์ช่วยยกต้องสามารถระบุบ่งชี้พิกัดรับน้ำหนักที่ชัดเจนได้
  • ให้มีวัสดุรองรับตามมุมขอบคม เพื่อป้องกันไม่ให้ขอบคมของชิ้นงานที่ยกสร้างความเสียหายให้สลิง
  • ให้มีการทำแผนการยก (Lifting Plan) ทุกครั้งก่อนทำการยกวัสดุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานยกแบบวิกฤต (Critical Lift)
  • ต้องมีการตรวจสอบสภาพพื้นที่รองรับน้ำหนัก และมีการใช้แผ่นรองขายันพื้นทุกครั้งในขณะใช้รถปั้นจั่น
  • ในการติดตั้ง เพิ่ม-ลดความสูงของปั้นจั่นหอสูงให้มีการจัดทำขั้นตอนการทำงาน พร้อมทั้งจัดให้มีผู้ควบคุมงานและวิศวกรในการควบคุมให้เป็นไปตามขั้นตอน
  • ในการใช้งาน บำรุงรักษา ตรวจสอบ และทดสอบ ให้เป็นไปตามคู่มือของผู้ผลิต และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ห้ามยกวัสดุข้ามศีรษะของผู้ปฏิบัติงานอื่นในพื้นที่ที่ทำการยกโดยเด็ดขาด
  • ในพื้นที่ที่ทำการยกวัสดุด้วยปั้นจั่น ต้องมีการปิดกั้นพื้นที่แสดงเขตอันตราย และติดป้ายเตือน สัญญาณเตือน
  • ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับปั้นจั่น ไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณ ผู้ยึดเกาะวัสดุ ผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น ต้องผ่านการฝึกอบรมการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นตามกฎหมาย
  • ปั้นจั่นต้องได้รับการตรวจสอบและทดสอบตามระยะเวลาที่กำหนดโดยวิศวกรวิชาชีพ

References:

ข้อมูลจากงานสัมมนา ‘ไขปัญหาค้นหาสาเหตุ เครนดัง เครนล้มในรอบปี’ ในงาน ‘วิศวกรรมแห่งชาติ 2562’ โดยอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

Visitors: 367,330