วิทยากรออนไลน์

เผยแพร่เมื่อ 07/09/2564...,
เขียนโดย คุณเสกสรรค์ ปรีจิตต์
               CEO PS safety Co.,Ltd....,

 

เรื่อง วิทยากรออนไลน์

          บทความนี้ผมจะเล่าเรื่อง วิถีชีวิตของการเป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยในการทำงาน ในยุคที่โควิด-19 ครองเมือง รวมถึงเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มทำงานวิทยากรครั้งแรก เพื่อให้เห็นการก้าวสู่สายอาชีพวิทยากรและการปรับตัว การพัฒนาตนเองจนมาสู่ปัจจุบันในโลกยุคโควิด ที่อะไรต่อมิอะไร ต้องเป็นออนไลน์เกือบทั้งหมดแม้กระทั่งชีวิตวิทยากรด้านความปลอดภัยฯ ก็ยังต้องปรับให้กลายเป็น วิทยากรออนไลน์

          ท่านจะได้ประโยชน์อะไรจากการอ่านครั้งนี้ ผมตั้งใจว่า สิ่งที่ผมจะเขียนนั้นจะทำให้ท่านได้ข้อมูล ประกอบการตัดสินใจ ว่าท่านท่านควรจะก้าวเข้าสู่อาชีพวิทยากรหรือไม่ และ ทำให้ท่านทราบขั้นตอนสำคัญของการเข้ามาเป็นวิทยากรความปลอดภัยฯ รวมถึง เมื่อเป็นแล้ว อะไรที่จะทำให้เราอยู่ได้ยาวๆ อย่างยั่งยืนในสายอาชีพนี้  นี่น่าจะเป็นประโยชน์หลักๆ ที่ผมตั้งใจจะสื่อสารผ่านบทความนี้ เอาละครับผมพาท่านเดินทางเข้าสู่ชีวิตวิทยากรกันเลยดีกว่า

          เข้าทำงานเป็น จป.วิชาชีพ ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2544 ถือว่าผมโชคดีมากครับ ที่ได้ทำงานกับบริษัทในเครือขนาดใหญ่โดยมีรุ่นพี่มหาวิทยาลัยเดียวกันคอยเป็นพี่เลี้ยง โดยงานในสัปดาห์แรกของการเป็น จป.วิชาชีพ คือการอบรมพนักงานใหม่ ในการใช้ถังดับเพลิงเบื้องต้น พี่ๆให้เวลาผมถึง 3 ชั่วโมง

          พระเจ้าช่วยกล้วยทอด!!! นี่รับน้องกันแบบนี้เลยหรือครับพี่ๆ แค่ 30 นาที ที่ต้องยืนหน้าห้องนำเสนองานหน้าชั้น ผมก็ว่ามันโคตรนานแล้วนะครับ แต่งานนี้ต้องยืนพูดถึง 3 ชั่วโมง  บอกตามตรงว่างานแรกนี้ทำให้ผมหนักใจสุดๆ แต่ด้วยงานนี้นี่เองที่ทำให้ผมก้าวเข้าสู่ขอบเขตของการเป็นวิทยากรภายในองค์กร

          ผมรับหน้าที่นี้ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ทำงาน โดยผมต้องไปยืนพูดเรื่องเดิม ๆ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทักษะการสื่อสารผมเริ่มดีขึ้น จากเดิมที่พูดแล้วไม่ค่อยมีคนเข้าใจ พูดแล้วไม่น่าสนใจ พูดแล้วหลับ ไม่รู้จะพูดอะไร  ก็เริ่มมีการยกตัวอย่าง มีคนถาม มีเสียงหัวเราะเป็นบางครั้งคราว มี work shop ทำบ้างในบางครั้ง

          ผมว่านี้เป็นจุดสำคัญ ของการก้าวเข้าสู่อาชีพวิทยากร คือ จป.วิชาชีพ ทุกคนต้องเป็นนักสื่อสารที่มีทักษะ เรามีเวทีของการเป็นวิทยากรภายในองค์กรอยู่แล้ว เรามีเวทีของการนำเสนอหรือการพูดคุยกับพนักงานอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องเปิดโอกาสให้กับตนเองได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร การพูดในที่สาธารณะ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อขัดเกลาตนเอง

 

          ประมาณปี พ.ศ. 2556 ผมได้ตัดสินใจ ลาออกจากการเป็น จป.วิชาชีพ เพื่อที่จะเปลี่ยนสายงานมาเป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยฯ แบบเต็มเวลา แต่เรื่องนี้มันง่ายเฉพาะในความคิด การที่จะทำให้เป็นมันเป็นจริงค่อนข้างจะยากมาก เพราะความสำเร็จของการเป็นวิทยากร ไม่ได้อยู่ที่ทักษะการพูดการสื่อสารแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญ กลับกลายเป็น เครือข่ายและความไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน

          ทำไม เครือข่ายและความไว้วางใจ จึงกลายมาเป็นหัวใจของการประสบความสำเร็จ เมื่อคุณก้าวสู่เส้นทางสายวิทยากรอาชีพ  ผมกำลังพูดถึงวิทยากรอิสระที่ไม่ใช่วิทยากรประจำกินเงินเดือนนะครับ ดังนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า งานบรรยายนั้นคุณจะต้องหาเอง ต้องนำเสนอตัวเองให้องค์กรหรือค่ายหน่วยฝึกอบรมต่างๆ เครือข่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้คุณเข้าถึงลูกค้า  แต่นั้นก็ยังไม่พอที่จะทำให้ให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกคุณเข้ามาให้บริการ ลูกค้าจะต้องไว้วางใจเราในระดับหนึ่งก่อน โดยอาจดูจากผลงานที่ผ่านหรือได้รับการการันตีจากหน่วยฝึกอบรมที่เขาไว้วางใจ

          จึงเป็นการยากในตอนเริ่มต้น สำหรับใครที่ไม่ค่อยมีเครือข่ายหรือไม่มีหน่วยฝึกอบรมที่ไว้วางใจคุณ เมื่อตอนเริ่มต้นผมก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน ผมใช้วิธีค่อยๆสะสมผลงาน ส่วนใหญ่ 2 ปี แรกของผมจะเป็นงานฟรีครับ จิตอาสาเข้าไปทำงานกับเครือข่ายชมรม สมาคมต่างๆ รวมถึงภาครัฐ เพื่อสร้างเครือข่ายและความไว้วางใจ

          ประเด็นสุดท้ายที่จะทำให้ชีวิตการเป็นวิทยากรนั้นอยู่รอดและกลายเป็นอาชีพที่คุณจะฝากอนาคตไว้ได้ ต้องอาศัยธรรมชาติที่ติดตัวเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนส์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ นั้นคือ การปรับตัว ครับ พูดง่ายแต่ทำยากอีกแล้ว เรื่องนี้ผมว่ามันอยู่ใน DNA ของเราทุกคนนะครับ อย่าเพิ่งปฏิเสธ ขอให้ลองทำดูครับ

          ยุคของวิทยากรออนไลน์ มาถึงแล้วคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม ใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นเดินบนเส้นทางวิทยากรหรือใครก็ตามที่อยู่บนเส้นทางเก่า ถึงเวลาต้องปรับตัวแล้วครับ ผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าโลกแบบเดิมที่เราคุ้นชินจะกลับมาเมื่อไหร่ หรือ มันจะกลับมาไหม แต่ที่รู้แน่นอน คือ ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว และถ้าเราอยากอยู่รอดบนเส้นทางสายวิทยากร เราต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเองให้หมุนตามโลกครับ

          สรุปเลยนะครับ ว่าปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของอาชีพวิทยากร ในมุมมองประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้นมี 3 ปัจจัยหลัก คือ
               1. การฝึกฝนและขัดเกลาทักษะด้านสื่อสารตลอดเวลา หาเวทีให้ตนเองได้ฝึกและทดลองอย่างสม่ำเสมอ
               2. 
สร้างเครือข่ายและความไว้วางใจ คุณต้องรู้จักเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ และคุณต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อให้เครือข่ายไว้วางใจในความสามารถของคุณ
               3. 
การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียนรู้ เทคโนโลยี แนวคิดวิธีการทำงาน

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านบทความจนมาถึงตอนท้ายนี้ อยากบอกทุกท่านว่าไม่มีอะไรยากเกินจะทำให้สำเร็จเพียงแค่กล้าที่ก้าวเท่านั้น

 

Visitors: 401,574