ท่านถาม วิทยากรตอบ การสนทนาวิชาการ “การจัดการภาวะฉุกเฉินแบบมืออาชีพ” (1)

โดย สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
เผยแพร่เมื่อ: 15/06/2564...,

 

ท่านถาม วิทยากรตอบ
การสนทนาวิชาการ “การจัดการภาวะฉุกเฉินแบบมืออาชีพ” (1)

          ด้วยเวลาที่จำกัด และด้วยเนื้อหาที่มีมาก ทำให้การสนทนาดังกล่าวไม่สามารถที่จะตอบคำถามที่ถามมาใน chats ได้ สอป. ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากร (คุณปราโมทย์ คล้ายเชย) ช่วยตอบมาให้ (คำตอบจากกรอ.และปภ. โปรดดูโพสต์ต่างหาก เพื่อจะไม่ยาวเกินไปในแต่ละโพสต์)

          พบคำถาม คำตอบได้ดังนี้

                    1. เห็นการใส่อุปกรณ์ของพนักงานดับเพลิง พนักงานดับเพลิงได้รับทราบถึงความอันตรายของสารเคมีจาก On scence commander / Emergency director หรือไม่
                              
>>> ตอบ: เท่าที่ทราบหน้างานมีทีมดังเพลิงหลากหลายมากที่เข้าพื้นที่ ที่มีความรู้ความเข้าใจต่างกัน ทำให้การบัญชาการที่หน้างานมีความยุ่งยากที่จะสั่งการ และสื่อสารให้เข้มแข็งได้ และช่วงแรกยังไม่ทราบข้อมูลสารเคมี จึงอาจจะเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับข้อมูลหรือได้รับไม่ทั่วถึงหรือ รับรู้ช้า และอาจเป็นความเคยชินกับการดับไฟทั่วๆ จึงขาดความสำคัญและตระหนักที่จะรับรู้เรื่องสวม PPE จากนี้ไปควรถือโอกาส ให้ความรู้ทีมดับเพลิงนี้ ในขณะที่เหล็กยังร้อนๆอยู่ครับ

                    2. จากไลฟ์สด เห็นเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงพยายามจะทิ้งน้ำผสมโคลน แต่กู้ภัยยังอยู่ในพื้นที่ ทำให้ทิ้งไม่ได้ จึงอยากสอบถามเรื่องการสื่อสารที่ดี การสั่งการที่ดี สามารถทำได้อย่างไรบ้างครับ
                              
>>> ตอบ: เท่าที่ทราบเป็นน้ำผสมโฟมนะครับ เรื่องนี้ขอตอบแบบหลักวิชาการ ที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดกันในทีมผู้เชี่ยวชาญแล้วดังนี้ โดยหลักการ การดับไฟอุตสาหกรรมต้องมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ว่าจะดับหรือ หล่อเย็น ทั้งนี้จากที่ตัดสินใจใช้โฟม แสดงว่าตัดสินใจจะดับเพลิง โดยทราบว่าโปรยไป 40 กว่าเที่ยว ซึ่งการดับเพลิงด้วยโฟมต้องฉีดต่อเนื่องจากอุปกรณ์ผสมโฟม ตามที่ NFPA กำหนด โดยโฟมจะดับไฟด้วยการปิดคลุมเชื้อเพลิง ให้มิด เพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัส Oxygen ก็จะทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการติดไฟ ไฟก็จะดับ การฉีดไม่เต็มพื้นแบบต่อเนื่องก็ทำให้เปิดหน้าผิวเชื้อเพลิงให้สัมผัส Oxygen ก็จะยังคงลุกไหม้ อยู่เช่นเดิม (หน้าที่หลักของโฟมไม่ใช่การหล่อเย็น) ข้อมูลเพิ่มเติมคือโฟมทั่ว ๆ ไป ต้องฉีดในพื้นที่ที่มีถัง ขอบ กำแพง ล้อมรอบที่ขังเชื้อเพลิงไว้ (2 dimension fire) ไฟที่มีแรงดัน มีการรั่วไหลมาเติมตลอดเวลา และไม่มีขอบกัน เป็นลักษณะ 3 Dimension fire โฟมดับไม่ได้ครับ

                              การจัดการเรื่องนี้ ต้องหารือเรื่องกลยุทธ และได้ข้อสรุปที่เป็นไปตามทฤษฎี แต่เท่าที่ฟังสัมมนาเมื่อค่าวันที่ 14 กค 64 ทราบว่า ต้องการจัดการในส่วนที่ภาคพื้นดินเข้าไม่ถึง ส่วนที่มีอุปสรรค เพราะมีทีมภาคพื้นดิน ก็ต้องประสานสั่งการอย่างแข็งแรง และอาจพิจารณาคัดกรองจำนวนคนเข้าพื้นที่ เพื่อป้องกันการกีดขวางหรือ เป็นอันตรายได้ครับ

                    3. ในเมื่อแต่ละปี แต่ละสถานประกอบการจะต้องมีการรายงานสารเคมีอันตราย ให้กับทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอยู่แล้ว ทั้งชื่อสารเคมี และปริมาณ เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น ทางกรมสวัสดิ์ฯ มีการลิงค์ข้อมูลเหล่านี้ที่ได้รับรายงาน เพื่อมาบริหารจัดการ หรือเฝ้าระวังบ้างไหม เช่นโรงงานนี้ไหม้แล้วโรงงานรอบข้างเป็นอย่างไร ความเร่งด่วนเบอร์ไหน การประสานงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้มีร่วมกันไหมคะ ขอบคุณค่ะ
                              
>>> ตอบ: ผมก็เคยส่งข้อมูลแบบนี้เช่นกัน สุดท้ายราชการต้องมองปลายทางจริง ๆ ให้ส่งเพื่อวัตถุประสงค์อะไร มองว่าเกิดเหตุจริงใครใช้ ข้อมูลไปถึงหรือให้เขาเข้าถึงได้อย่างไร ก็จะดีกว่า มุมมองส่วนตัว การบูรณาการกันของภาครัฐ การบริหาร Big Data ให้เกิดประโยชน์ยังมีพื้นที่ที่ต้องปรับปรุงอยู่ครับ

                    4. อุปกรณ์PPEมีการจัดการที่เพียงพอหรือไม่ครับ
                              
>>> ตอบ: เท่าที่เห็นจากภาพ และการเสวนา ทราบว่า มีหลายคนไม่ได้สวม หรือสวมแบบไม่ถูกชนิด หรือไม่มีคุณภาพ งานนี้ หน้างานคงไม่สามารถแจกให้ได้ ถือว่าเป็น PPE ที่ทีมดับเพลิงต้องเตรียมไปเอง ถือว่าเป็น PPE Set ของนักดับเพลิงอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า PPE อาจจะมีราคาแพงพอควร หน่วยงานควรจัดงบประมาณรองรับตรงนี้ให้นักดับเพลิงในสังกัดด้วยนะครับ สงสารเขาที่ต้องเสี่ยง และเสียสละ

                    5. จากเหตุการณ์ที่เกิดจากรง.หมิงตี้ ในความเห็นส่วนตัวสิ่งที่ทุกหน่วยงานควรพัฒนาคือ
                        1. อุสาหกรรมจังหวัดต้องรู้ว่ามีสารเคมีอะไรบ้าง
                        2. ผังหรือรูปแบบการติดตั้งแท็งก์การเดินไลน์ท่อควรมีการ Update ทุกปีเพื่อเป็นข้อมูล
                        3. ปภ.ควรให้ความรู้และจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับสารเคมีให้จนท.ปภ. ทราบและในวันนั้นควรจะมีผู้รู้เป็นที่ปรึกษามิใช่เข้าดำเนินการโดยไม่รู้ว่าเป็นสารเคมีอะไร
                        4. ในระหว่างที่เกิดทุกเหตุการณ์ควรมีเบอร์ฉุกเฉินโชว์ให้เห็นสำหรับผู้ที่รู้รายละเอียดส่งข้อมูลให้
                              
>>> ตอบ: เห็นด้วยครับ ทราบว่าอุตสาหกรรมน่าจะมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่เมื่อต่างกระทรวงกัน เอกภาพในการสั่งการในภาพรวมให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน ยังมีประเด็นอยู่ อีกประเด็นที่สำคัญคือ ตัวโรงงานเองต้องมีข้อมูล ทีมมีระบบการจัดเก็บที่มั่งคง เช่นในอาคารควบคุมที่ออกแบบให้ทนแรงระเบิด (blast proof building) ที่ทุกโรงงานปิโตรเคมี ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการออกแบบก่อสร้างไว้ใช้งานเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว มาใช้งานยามจำเป็น ส่วนการ UP DATE เอกสาร/ข้อมูลถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก ที่หากขอการระบบISO น่าจะบังคับให้ทำอยู่แล้ว

                    6. จป.วางมาตรการ เขียนแผนไว้ค่อนข้างดี แต่ Human ignor ไม่สนับสนุนเวลาซ้อมแผนอบรม ไม่สนับสนุนงบประมาณปรับปรุง มีแนวทางช่วยเหลือคนทำงาน จป. ได้อย่างไรบ้าง ในอนาคตเป็นไปได้ไหมคะ จป.วิชาชีพ เป็นคนนอก ที่สถานประกอบการต้องมีประจ
                              
>>> ตอบ: มุมมองผม มีหลายอย่างที่ต้องพิจารณาว่าทำไมเราปรุงอาหารแต่เขาไม่ไม่ชอบทาน เพราะ อาหารไม่อร่อย รสชาติเดิมๆ ทำให้เขารู้สึกไม่ทานก็ไม่เป็นไรมั่ง เราต้องปรับกลยุทธ์ เอา CSAE จริงไปผสมในเมนูบ้าง ให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นตัวอย่างมาร่วมชิม เอากุ๊กข้างนอกไปปรุงให้บ้าง ทำให้เขารู้และตระหนักว่าเขาต้องรักหม้อข้าวใบนี้ที่เลี้ยงดูเขามา และต่อเนื่องไป เขาก็จะเห็นความสำคัญที่จะใส่ใจที่จะฝึกซ้อม เพื่อร่วมป้องกันหม้อข้าวให้เขามีความมั่นคงในชีวิต ครับ ส่วนเรื่องจป. ผมเห็นว่าต้องพยายามสร้างวัฒนธรรม หรือวิถีการดูแล จัดการ เรื่องความปลอดภัยให้ไปเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกหน่วยงานไม่ใช่มาฝากที่บ่าของจป. คนเดียว เรารับไว้ไม่ไหวหรอก ครับ(ขอตอบหลักการกว้างๆก่อน เพราะตัวอย่างที่บริษัท ทำเรื่องนี้อย่างเอาจริงมากๆครับ)

#OHSWA
#สอป

Visitors: 366,558