จป.วิชาชีพ กับเรื่องการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และ COVID-19

เผยแพร่เมื่อ: 26/05/2563....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

 

"...จป.วิชาชีพ กับเรื่องการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และ COVID-19..."

 

งานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คืองานว่าด้วยการป้องกันความเสี่ยงให้กับคนทำงาน ให้ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราจะมุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงที่มาจากเครื่องจักร สารเคมี เสียง ความร้อน แสงสว่าง และรังสี เป็นต้น

แต่ถ้าจำได้ หลังน้ำท่วมประเทศไทยอย่างหนักเมื่อปี 2554 การบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามมาตรฐานมอก./OHSAS 18001 ก็ต้องมาเพิ่มความเสี่ยงจากน้ำท่วมด้วย

ถ้ามองถอยหลังไปเมื่อปี 2543 หรือปี 2000 ทุกคนคงจำได้ถึงเรื่อง Y2K ว่าระบบคอมพิวเตอร์จะมีปัญหาเรื่องการเข้าใจผิดของเลขปีคศ.จนทำให้ธุรกิจพังพินาศ

เรื่องข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงของการทำธุรกิจ ไม่ได้มองเฉพาะความเสี่ยงจากที่จป.วิชาชีพ หรือพวกเรานักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทำกันเท่านั้น แต่ธุรกิจมองภาพกว้างกว่านั้นว่าอะไรก็ตามที่จะมีผลทำให้ธุรกิจพังลงได้ ก็เรียกสิ่งนั้นว่าความเสี่ยง ดังนั้น หากเราไปอ่านมาตรฐานว่าด้วย Risk Management ไม่ว่าจะของ ISO, ANSI, BSI หรือ AS/NZS ก็จะพบว่า Hazard ที่ต้องทำการชี้บ่งนั้นมีมากกว่าที่เราทำ ๆ กันอยู่มาก เช่นครอบคลุมถึงเรื่อง ภัยธรรมชาติ อุทกภัย แผ่นดินไหว อัคคีภัย การก่อเหตุวินาศกรรม จลาจล และการเกิดโรคระบาด ฯลฯ

ฝรั่งให้ความสำคัญกับเรื่องการอยู่รอดของการทำธุรกิจมานานแล้ว และประเทศไทยเอง ก็มีมาตรฐาน มอก.22301-2553 ระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) มาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนจะนิยมกันในบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น และอาจมีจป.วิชาชีพจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีโอกาสได้เข้าไปทำเรื่อง BCM

แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ของไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่ที่อาละวาดไปทั่วโลก และมีทีท่าว่าบริษัทจำนวนมากจะต้องถึงขั้นปิดกิจการ ดังเช่นข่าวเกี่ยวกับฐานะการเงินที่ทำท่าจะไปไม่รอดของธุรกิจธนาคาร สายการบิน และอุตสาหกรรมหลายประเภทกิจการ ทำให้มีการพูดถึงเรื่อง BCM กันมาก ว่าหากบริษัทใด ไม่ได้จัดทำไว้ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้เกิด disruption ถึงขนาดต้องปิดกิจการไป เพราะไม่สามารถรับมือได้ทันท่วงที

ถ้าไปค้นคว้าดู จะพบว่ามี 2 คำที่ใช้กันคือ Business Continuity Management หรือ BCM และ Business Continuity Plan หรือ BCP ทั้งนี้ในมอก./ISO 22301 จะให้นิยามของทั้งสองคำนี้ไว้ จำไว้ง่าย ๆ ว่า BCM เป็นภาพรวมของการบริหารที่จะให้มีความต่อเนื่องทางธุรกิจ ส่วน BCP เป็นเอกสารที่รวบรวมขั้นตอนและข้อมูลที่องค์กรพร้อมจะนำไปใช้เมื่อเกิดอุบัติการณ์ขึ้นมา

นอกจากนี้ยังมีคำ IMP หรือ แผนการจัดการอุบัติการณ์ (incident management plan ) ซึ่งหมายถึง แผนปฏิบัติการท่ีกําหนดไว้เป็น ลายลักษณอักษรเพื่อใช้เเมื่อเกิดอุบัติการณ์ โดยปกติจะครอบคลุมถึงบุคลากรหลัก ทรพัยากร การบริการ และ การปฏิบัติการที่จำเป็นในการนำกระบวนการจัดการอุบัติการณ์ไปปฏิบัติ

สอม.สอป.และภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองเห็นถึงบทบาทที่จป.วิชาชีพ ต้องเข้ามา “เล่น” ในเรื่อง BCM โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ปัญหา COVID-19 กำลังจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำธุรกิจ มุมมองของจป.วิชาชีพจะต้องกว้าง มอง risk ได้ 360 องศา จึงได้ร่วมกันจัดทำ “แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และแผนบริหารภาวะวิกฤตโรคโควิด 19” เพื่อให้จป.วิชาชีพ และผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องความต่อเนื่องของการทำธุรกิจ ได้นำไปศึกษาและใช้งานในองค์กรของตน

สิ่งที่ทุกท่านจะพบในคู่มือดังกล่าวได้แก่การทำแผน (ที่ based on ISO 22301) (Version ล่าสุดคือปี 2019) ดังนี้

  • ขอบเขตและวัตถุประสงค์
  • การจัดตั้งทีมงาน
  • การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ
  • แผนบริหารความต่อเนื่องธุรกิจ แผนป้องกัน แผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และแผนฟื้นฟู
  • การจัดฝึกอบรมและการจัดฝึกซ้อม
  • การทดสอบ ปรับปรุง และทบทวนแผน
  • และยังมีภาคผนวกว่าด้วยระดับการแจ้งเหตุ และมาตรการป้องกันและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ให้ได้เป็นตัวอย่างอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ เขียนขึ้นโดยจป.วิชาชีพและนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่คลุกกับเรื่อง BCM/BCP และรวมถึงเรื่อง COVID-19 จึงทราบและเข้าใจว่าเนื้อหาที่จะถ่ายทอดควรเป็นเช่นใด อาจพูดได้ว่า ผู้เขียนพยายามจะทำให้เรื่อง BCM/BCP เป็นเรื่องง่ายสำหรับจป.วิชาชีพจะนำไปใช้งาน

เรื่องนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณะในเพจและเว็บไซต์ของสอป.สอม.และภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้แน่นอน โปรดติดตาม

Visitors: 365,444